ตอนที่ 10 รับซื้อเกาลัด
หญิงชราเอ่ยอย่างทอดถอนใจระคนเห็นใจ “เด็กสาวอย่างหนูต้องประสบกับความทุกข์ทรมานใหญ่หลวง คงจะหิวมากแน่ ๆ เอาอย่างนี้ ฉันจะผัดข้าวกับน้ำมันให้หนูกินนะ”
หลินม่ายรีบเอ่ย “คุณยาย ฉันกินอาหารเย็นมาแล้วค่ะ”
หญิงชราชำเลืองมองเธอแวบหนึ่ง “พ่อกับแม่ก็ไม่รักไม่สนใจใยดี แถมยังถูกพ่อแม่สามีไล่ออกมา หนูจะไปกินข้าวที่ไหนได้? เข้ามาถึงในบ้านฉันแล้วยังจะเกรงใจฉันอีก!”
กล่าวจบนางก็มุ่งเข้าครัวไป ผัดข้าวผัดน้ำมันชามใหญ่คลุกเคล้ากับต้นหอมและถั่วฝักยาวดอง น้ำมันที่ผสมอยู่ในนั้นมีปริมาณไม่น้อย ข้าวทุกเม็ดถูกคลุกเคล้าด้วยน้ำมันจนเป็นประกายแวววาว
ถ้าเปลี่ยนเป็นอดีต หลังจากที่หลินม่ายร่ำรวยแล้ว เธอจะไม่กินข้าวที่ผัดจนมันเยิ้มให้เสียลิ้น เพราะไม่ชอบความเลี่ยน
แต่ตอนนี้ยังไม่มีน้ำมันตกถึงท้องของเธอ แถมกลิ่นก็หอมชวนน้ำลายสอด้วย
แม้จะเพิ่งกินบะหมี่หยางชุนไป แต่ข้าวผัดน้ำมันชามใหญ่นี้ก็ช่างเหลืองอร่ามน่ากินยิ่งนัก หลัก ๆ เลยคือผักกาดดองที่ผสมอยู่ในข้าวช่างเรียกน้ำย่อยให้ทำงานได้ดีจริง ๆ
ชายชราและหญิงชราดูเธอกินจนหมดชาม ทั้งคู่เผยรอยยิ้มอย่างเมตตากรุณา
หญิงชราเอ่ยด้วยความขุ่นเคือง “แล้วบอกว่ากินมาแล้ว เด็กโกหก!”
หลินม่ายยิ้มอย่างรู้สึกผิด เธอไม่คิดว่าหลังจากกลับชาติมาเกิดใหม่เธอจะได้กินอะไรแบบนี้
เมื่อได้กินข้าวหนึ่งมื้อ ทั้งสองฝ่ายก็ทำความรู้จักกันอีกเล็กน้อย
อาวุโสคู่นี้มีแซ่ว่า ‘ฟาง’ ลูกชายและลูกสาวต่างก็ไปทำงานในเมืองกันหมด เหลือสองปู่ย่าอยู่เฝ้าบ้านโกโรโกโสในหมู่บ้านเพียงลำพัง
หลังจากกินข้าวเสร็จ หลินม่ายเก็บชามและตะเกียบไปล้าง จากนั้นก็อาบน้ำชำระร่างกายตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า และซักเสื้อผ้าจนสะอาดเกลี้ยงเกลา
คุณย่าฟางเห็นเสื้อผ้าที่เธอสวมใส่ทั้งขาดทั้งเล็กทั้งหยาบกระด้าง จึงหยิบเสื้อผ้าชุดใหม่ของตัวเองชุดหนึ่งให้หลินม่ายสวม
หลินม่ายไม่เอาท่าเดียว
นี่คือยุคศตวรรษที่ 80 ใคร ๆ ก็มีชีวิตที่ไม่ค่อยสุขสบายนัก เสื้อผ้าหนึ่งชุดย่อมมีค่ามาก
แม้คุณย่าฟางจะมีฐานะดีเพราะลูกชายและลูกสาวไปทำงานในเมือง แต่เธอก็ไม่ควรรับเสื้อผ้าของนาง
นางเก็บเสื้อผ้าไว้ให้เธอ ทั้งยังทำอาหารมื้อค่ำให้เธอกินอีก เธอไม่กล้าได้คืบจะเอาศอกหรอก
หลังจากผมแห้งแล้วหลินม่ายก็ขึ้นเตียง
บ้านของคุณย่าฟางนั้นกว้างขวาง หล่อนจัดห้องหับห้องนอนให้เธอได้นอนส่วนตัวหนึ่งห้อง ในห้องใหญ่นี้มีเตียงหนึ่งเตียง
แม้ว่าเตียงจะถูกปูด้วยฟางแห้ง แต่ผ้าห่มนั้นหนามาก ยามขึ้นไปนอนรู้สึกสบายตัวมากทีเดียว
หลินม่ายขึ้นเตียงและหลับไปในทันที
วันที่สองอากาศค่อนข้างดี ท้องฟ้าแจ่มใส เพียงแต่ดวงอาทิตย์ไม่ค่อยเป็นใจนัก ทอแสงอ่อนไม่ค่อยอุ่นสักเท่าไร
หลังจากกินอาหารเช้าแล้ว หลินม่ายก็เตรียมจะเดินทางเข้าเมือง
ก่อนออกเดินทาง หลินม่ายได้แอบวางเงินจำนวนห้าเหมาไว้ใต้กาน้ำชาของคุณย่าฟาง
แม้จะบอกว่าเธอมีเงินติดตัวไม่มากนัก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเอาเปรียบผู้อื่น
อีกอย่างเธอยังมีเงินติดตัวอีกสองสามหยวน เพียงพอต่อการซื้อตั๋วรถไฟหนึ่งใบเข้าเมือง ทั้งยังใช้ชีวิตอยู่ได้อีกสองสามวัน
คุณย่าฟางยิ้มตาหยีพลางเอ่ย “ม่ายจื่อ หนูรอประเดี๋ยว ฉันมีเกาลัดอยู่สองสามชั่งอยากฝากให้หนูช่วยนำไปให้หลานชายคนโตของฉันได้กินหน่อย หลานชายคนโตของฉันชอบกินเกาลัดมาก”
หลินม่ายยิ้มพลางตอบรับ
คุณย่าฟางหยิบกล่องขนาดเล็กใบหนึ่งออกมาจากในบ้าน ภายในกล่องนั้นบรรจุเกาลัดป่าท้องถิ่นไว้จนเต็ม
เกาลัดชนิดนี้มีขนาดเท่าหัวแม่มือของผู้ชาย แม้จะมีขนาดเล็ก แต่รสชาติของมันนุ่มหวานละมุนลิ้นมากทีเดียว
หลินม่ายบังเกิดความคิดหนึ่ง ต้นเกาลัดป่าในชนบทแห่งนี้มีจำนวนไม่น้อย พวกผู้ใหญ่และเด็กในพื้นที่ต่างก็ชอบเก็บเกาลัดป่าในช่วงฤดูใบไม้ร่วงมาเป็นอาหารว่างต้อนรับแขกในช่วงปีใหม่
ถ้าตัวเองรับซื้อเกาลัดด้วยเงินหนึ่งเหมาต่อหนึ่งชั่งได้ จากนั้นก็นำมาทำเป็นเกาลัดคั่วไปขายในเมือง น่าจะขายดิบขายดีน่าดู
เธอจำได้ว่าเมื่อครั้งอดีตในปี 84 ไม่ว่าจะขายขนมหรือขายอะไรต่างก็สร้างเม็ดเงินได้เป็นกอบเป็นกำ เธอเริ่มจากของกินเล่น สุดท้ายก็กลายเป็นร้านอาหารที่เปิดสาขาย่อย กลายเป็นเจ้าแม่ภัตตาคารในมณฑลหูไปโดยปริยาย
ตอนนี้แม้ว่าจะเข้าเมืองก่อนล่วงหน้าสามปี แต่ลองดูก็ไม่เสียหาย
แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าเธอไม่มีเงินติดตัวเลย
หลังจากลังเลอยู่พักใหญ่ หลินม่ายก็บากหน้าไปขอยืมเงินคุณย่าฟาง บอกว่าเธออยากนำเกาลัดไปคั่วขายในเมือง
เนื่องจากกลัวว่าคุณย่าฟางจะไม่ให้ยืม เธอจึงนำสมุดทะเบียนบ้านเป็นหลักค้ำประกันไว้กับนาง
คุณย่าฟางใจดีมาก โบกมือพลางเอ่ยว่า “เมื่อวานเสื้อผ้าที่หนูซักไว้ยังตากแดดอยู่ในบ้านฉัน เอาเสื้อผ้าค้ำประกันไว้ก็พอแล้ว ไม่ต้องเอาทะเบียนบ้านหรอก”
จากนั้นก็เข้าไปหยิบเงินจำนวนสิบหยวนมาให้เธอ ถามเธอว่าพอหรือไม่
เสื้อผ้าเก่า ๆ ที่ซักแล้วเหล่านั้นจะมีมูลค่าสักเท่าไรกันเชียว?
หลินม่ายรู้ว่าคุณย่าฟางมีใจอยากช่วยเธอ จึงซาบซึ้งใจอย่างมาก แล้วเอ่ยอย่างจริงจัง “พอแล้วค่ะ พอแล้ว!”
คาดไม่ถึงจริง ๆ แค่พบกันโดยบังเอิญ กลับได้รับการช่วยเหลือจากคุณย่าฟางมากขนาดนี้
ยืมเงินจำนวนสิบหยวนแล้ว หลินม่ายยังขอยืมไม้หามและถุงกระสอบของคุณย่าฟางด้วย
คุณปู่ฟางที่ไม่ได้ช่วยอะไรมาตลอดได้ชิงวิ่งไปหยิบไม้คานและถุงกระสอบจากหลังบ้าน
คุณย่าฟางยื่นของเหล่านี้ให้หลินม่ายพลางพูดว่า “ม่ายจื่อ หนูจะกลับมาอีกไหม? ถ้ากลับมาอีกก็ฝากของเหล่านี้ไว้ที่บ้านแล้วกัน จะแบกถุงกระสอบถุงนี้ไปขายเกาลัดในเมืองทำไม?”
หลินม่ายนำถุงกระสอบที่บรรจุของใช้ทุกอย่างของตัวเองเก็บไว้ในบ้านของคุณย่าฟาง แล้วเอ่ยด้วยความเขินอาย “ฉันกำลังลังเลอยู่พอดีเลยค่ะว่าจะเอ่ยปากพูดเรื่องนี้ยังไง คุณย่าก็พูดเสียก่อน”
คุณย่าฟางเอ่ยพลางยิ้ม “ทำไมจะพูดไม่ได้เล่า? บ้านของเราเปิดต้อนรับหนูเสมอ”
“ใช่ ๆ ใช่เลย” คุณปู่ฟางพยักหน้าหงึกหงักอย่างรวดเร็ว
หลินม่ายรับเงิน ไม้คานและถุงกระสอบที่คุณย่าฟางให้มา หมู่บ้านรอบเมืองต่างนิยมรับซื้อเกาลัดกันทั้งนั้น
เมื่อวานเส้นทางของหมู่บ้านถูกหิมะปกคลุมและเต็มไปด้วยดินโคลน หลินม่ายเดินไปพลางลื่นไปพลางจนมาถึงหมู่บ้านที่ใกล้ที่สุด
กระทั่งเห็นกลุ่มชาวบ้านต่างจับกลุ่มคุยกันอยู่กลางแดด จึงเดินเข้าไปถาม “พวกเธอมีเกาลัดกันไหมจ๊ะ?”
“มี ทำไม?” ชาวบ้านเหล่านั้นมองพิจารณาเธอตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า
หลินม่ายหันไปหาให้หญิงชาวบ้านที่มีท่าทีซื่อบื้อและขลาดกลัว ถูมือพลางเอ่ยว่า “ฉันอยากซื้อ….”
ชาวบ้านจำนวนมากต่างไม่ค่อยให้ความสำคัญนัก เพราะเกาลัดเป็นของหาง่าย ทั้งยังเป็นผลไม้ป่า ในเมื่อเธอขอซื้อ ก็แค่ต้องเพิ่มราคาเท่านั้น
แม้จะบอกว่าในช่วงต้นศตวรรษที่ 80 พวกชาวบ้านต่างค่อนข้างยากจนข้นแค้น แต่พวกเขาไม่ยอมขายเกาลัดในราคาไม่กี่เหมา เพราะมันต่ำเกินไป
มีชาวบ้านคนหนึ่งเอ่ยถามประโยคหนึ่งว่า “หนูจะรับซื้อเท่าไหร่?”
“8 เฟินต่อชั่งค่ะ”
แม้ความคาดหวังของหลินม่ายคือ 1 เหมาต่อชั่ง แต่ก็ไม่สามารถเอ่ยปากเผยไต๋ออกไปได้ จึงให้เวลาพวกชาวบ้านต่อรองราคากัน
ชาวบ้านคนนั้นเม้มริมฝีปาก “แปดเฟิน? ต่ำเกินไป!ไม่สู้เก็บไว้ให้เด็ก ๆ มันกินดีกว่า”
ชาวบ้านอีกคนเอ่ยขึ้น “ถ้าไม่ได้หนึ่งเหมาฉันก็ไม่ขาย”
หลินม่ายแกล้งทำเป็นเอ่ยอย่างลำบากใจ “หนึ่งเหมา….มันสูงไปหน่อย…..”
พวกชาวบ้านได้ยินประโยคนี้ก็ไม่มีใครสนใจเธออีก ต่างหันกลับไปคุยเล่นกันต่อ
หลินม่ายยืนอยู่ครู่หนึ่ง แล้วจำใจต้องเอ่ยออกไปด้วยความลำบากใจ “งั้นหนึ่งเหมาต่อชั่งก็ได้ค่ะ”
มีชาวบ้านเอ่ยถามขึ้นทันที “จะเอาเท่าไหร่”
แม้หลินม่ายจะผ่านความทุกข์ยากลำบากมาอย่างหนัก แต่จะให้แบกหามอีกก็คงไม่ได้ ไม่ใช่ว่าไม่มีแรง แต่เพราะไหล่มันต้านไม่ไหวแล้ว
แค่ภาระอย่างเดียว ไหล่ก็ระบมร้าวร้านแล้ว
หลังจากครุ่นคิดไปครู่หนึ่งก็เอ่ยขึ้นว่า “ขอแปดสิบชั่งค่ะ”
ชาวบ้านหลายคนพากันเอ่ยขึ้น “ฉันจะขายให้หนูเอง!” ขณะเอ่ยก็วิ่งออกไปข้างนอก
พวกชาวบ้านบางกลุ่มที่มีปฏิกิริยาตอบสนองช้าต่างเริ่มถามไถ่หลินม่ายว่าจะเข้ามารับซื้ออีกเมื่อไร
ถ้าเกาลัดในเมืองขายดี เธออาจจะเข้ามารับอีก ขายไม่ดี ก็ไม่มารับ
หลินม่ายเอ่ยด้วยรอยยิ้ม “เรื่องนี้….ฉันไม่แน่ใจ ฉันมาช่วยซื้อให้คนอื่น ไม่รู้ว่าคนเหล่านั้นจะยังอยากได้ไหมน่ะค่ะ”
ชาวบ้านคนหนึ่งสอบถามว่า “คน ๆ นั้นอยากได้เกาลัดไปทำอะไร?”
หลินม่ายจะพูดความจริงได้อย่างไร “หล่อนไม่ได้บอกฉัน…..”
เธอซื้อจากบ้านนี้สิบกว่าหยวน ซื้อจากบ้านนั้นหลายสิบหยวน ไม่นานก็ได้เกาลัดมาแปดสิบชั่ง
แล้วหลินม่ายก็แบกเกาลัดที่หนักอึ้งนั้นขึ้นรถไฟสายสีเขียวมุ่งหน้าสู่สถานีฮั่นโขว
………………………………………………………………………………………………………………………….
สารจากผู้แปล
ได้เริ่มธุรกิจสร้างเนื้อสร้างตัวแล้ว ขอให้ขายดีๆ เฮงๆ นะม่ายจื่อ
ไหหม่า(海馬)