ใช่ ทุกคนตอบสนองแล้ว!
ในบรรดาคดีของปัวโรต์ หนึ่งในคดีที่โด่งดังและเป็นที่พูดถึงมากที่สุดในหมู่ผู้อ่าน…
ก็คือฆาตกรรมบนรถด่วนโอเรียนท์เอ็กซ์เพรส!
และในฆาตกรรมบนรถด่วนโอเรียนท์เอ็กซ์เพรส ปัวโรต์เลือกที่จะปล่อยตัวคนร้ายไป
เนื่องจากกฎหมายไม่สามารถลงโทษฆาตกรซึ่งอยู่เหนือกฎหมายได้ คนกลุ่มหนึ่งจึงหยิบมีดขึ้นมาสังหารฆาตกรด้วยวิธีก่ออาชญากรรมร่วมกันซึ่งเป็นที่ตกตะลึง
ตาต่อตาฟันต่อฟัน!
หลังจากปัวโรต์รู้ความจริง เขาลังเลอยู่นาน สุดท้ายจึงเลือกไม่แจ้งข้อกล่าวหาคนกลุ่มนี้
วิธีจัดการเช่นนี้ของปัวโรต์จึงกลายเป็นที่ถกเถียงในเวลานั้น
แต่ใน ‘ผ้าม่าน’ มีฆาตกรซึ่งกฎหมายไม่อาจลงโทษได้ปรากฏตัวขึ้นอีก
ฆาตกรคนนี้ใช้จุดอ่อนทางจิตวิทยาของผู้อื่น บงการให้คนเหล่านั้นลงมือสังหาร ส่วนตนกลับเฝ้าดูจากระยะไกล
กล่าวได้ว่าเป็นคนนอกกฎหมาย!
เขาถึงขั้นยุยงให้เฮสติงส์เพื่อนรักของปัวโรต์สังหารใครสักคน!
ถ้าปัวโรต์ไม่พบเข้าเสียก่อน เฮสติงส์คงกลายเป็นฆาตกรไปแล้ว
ถ้าปัวโรต์ไม่จัดการอีกฝ่าย อีกฝ่ายมีแต่จะกระทำการอันวิปริตต่อไป
ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ปัวโรต์จึงเลือกใช้ตัวเลือกเดียวกับฆาตกรในฆาตกรรมบนรถด่วนโอเรียนท์เอ็กซ์เพรส
ตาต่อตา ฟันต่อฟัน!
ไม่ว่าจะดีหรือเลว
อย่างน้อยพฤติกรรมนี้ก็ไม่ได้ละเมิดคาแรกเตอร์ของปัวโรต์ แต่กลับทำให้คาแรกเตอร์ของปัวโรต์แข็งแกร่งขึ้น!
ใช่แล้ว
เขาสามารถให้อภัยคนเหล่านั้นได้ เพราะในช่วงเวลาอันมืดมนที่สุด เขาจะเลือกทำสิ่งที่สุดโต่งเช่นเดียวกัน!
ทว่าความแตกต่างอยู่ตรงที่…
ปัวโรต์สามารถให้อภัยผู้อื่นซึ่งใช้วิธีตาต่อตาฟันต่อฟันเพื่อลงโทษฆาตกรได้ แต่เขาไม่สามารถให้อภัยตัวเองที่ใช้วิธีนี้ได้
เพราะฉะนั้นหลังจากที่เขาสังหารฆาตกรแล้ว เขาจึงปลิดชีพตนเองโดยไม่ลังเล
เขาใช้วิธีของตนเอง ตกตายไปตามฆาตกร!
และนี่ คือความยิ่งใหญ่ของปัวโรต์!
เมื่อตระหนักได้ถึงจุดนี้
หลายคนก็เงียบลง
เสียงก่นด่าต่อฉู่ขวงเงียบลงทันที
เมื่อมีเรื่องราวดังกล่าวเป็นพื้นฐาน คำด่าของใครหลายคนจึงไม่เป็นผล
เพียงแต่ไม่มีใครคาดคิด
ว่าฉู่ขวงได้เปิดเผยจุดนี้ให้ทุกคนรับรู้ตั้งแต่ในฆาตกรรมบนรถด่วนโอเรียนท์เอ็กซ์เพรส เขาขุดหลุมไว้แต่แรกแล้ว
ความแตกต่างอยู่ที่ หลังจากคนกลุ่มนั้นใช้วิธีตาต่อตาฟันต่อฟันแล้ว พวกเขายังคงปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป
แต่ปัวโรต์ กลับเลือกใช้ความตายเป็นทางรอดของตนเอง
เขารู้สึกผิดต่อตนเอง
เขาละเมิดหลักการซึ่งรักษามาตลอดชีวิต
เมื่อเขาตัดสินใจในครั้งนี้ เขาได้ปฏิเสธสิ่งที่ยึดมั่นมาตลอดชีวิตการเป็นนักสืบ
แต่นี่ก็คือปัวโรต์!
ความหมายของโครงเรื่องนี้ลึกซึ้งจนพลอยให้ผู้คนตกใจ!
เนื่องจากมีสองทางเลือกซึ่งมีแนวทางต่างกันทว่ามุ่งสู่จุดประสงค์เดียวกัน จึงทำให้เรื่องราวซึ่งดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน ก่อเกิดเป็นห่วงโซ่ความคิดอันสมบูรณ์
ดังก้องไปทุกสารทิศ!
นอกจากนั้น ขณะตัดสินใจระหว่างสองทางเลือกนี้ ปัวโรต์พูดสามคำนี้ซ้ำๆ ไปมา
“ฉันไม่รู้…”
เขาไม่รู้ว่าจะจัดการกับผู้อื่นอย่างไร และไม่รู้ว่าตัวเลือกของตนถูกต้องหรือไม่
บนโลกนี้ไม่มีคดีใดที่ยากเกินไปสำหรับปัวโรต์
สิ่งที่ยากสำหรับเขา มีเพียงความขัดแย้งซึ่งเกี่ยวข้องกับธรรมชาติของมนุษย์
ตอนนี้ยอมรับตอนจบกันได้หรือยัง?
ผู้อ่านเองก็ไม่รู้
แต่เสียงด่าทอนั้นลดลงเรื่อยๆ แล้ว
การลุกฮือของผู้อ่านค่อยๆ ลดลงหลังจากเหลิ่งกวงเอ่ยถึงฆาตกรรมบนรถด่วนโอเรียนท์เอ็กซ์เพรส
ขณะนั้น
จู่ๆ ก็มีคนกล่าวว่า ‘ฉันไม่สนับสนุนวิธีของปัวโรต์ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ฉันหยุดชอบ เขายังคงเป็นยอดนักสืบอันดับหนึ่งในใจฉันตลอดไป’
ราวกับเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่
ผู้อ่านเห็นด้วยมากขึ้นเรื่อยๆ
‘จากคำพูดของปัวโรต์ในหนังสือ บางทีนี่อาจเป็นผลกรรมของเขา ดังนั้นสุดท้ายแล้วปัวโรต์จึงตกไปอยู่ในวัฏจักรอันไกลโพ้น ยามที่กฎหมายหมดความหมาย ปัวโรต์จึงหยิบปืนซึ่งอยู่ในแผนของเขามานาน จากนั้นจึงลั่นไกเพื่อเป็นตัวแทนของสิ่งที่เขาเรียกว่าความยุติธรรม’
‘ผมชอบเขามากกว่าเดิมอีก’
‘แต่ตอนจบแบบนี้โหดร้ายเกินไปสำหรับปัวโรต์ เขาเสาะหาความจริงมาตลอดชีวิต แต่สุดท้ายแล้วเขากำลังเสาะหาความยุติธรรมทางกฎหมาย ผลปรากฏว่าชีวิตเขาเองกลับลงเอยด้วยโศกนาฏกรรม’
‘เขาแก่ชรามากแล้ว สมองของเขายังแจ่มชัด แต่ร่างกายของเขากลับไม่ไหว’
‘คนอย่างปัวโรต์นี่แหละ ที่ทำให้พวกเรายืนอยู่ท่ามกลางแสงตะวันได้ตลอดเวลา’
‘ชอบปัวโรต์จริงๆ!’
‘…’
อาจยังคงมีการถกเถียงกันอยู่
แต่เมื่อเทียบกับการลุกฮือขึ้นอย่างบ้าคลั่งของผู้อ่านแล้ว ทุกคนที่สงบสติอารมณ์ได้แล้วต่างยอมรับสิ่งที่ปัวโรต์เลือก
ขณะเดียวกันก็ยอมรับตอนจบนี้
สิ่งที่ควรค่าแก่การเอ่ยถึงคือ ในเวลาที่เรื่องผ้าม่านของอากาธาเผยแพร่ออกไป เธอเองไม่ได้มีชีวิตอยู่บนโลกแล้ว ดังนั้นไม่เกิดเหตุการณ์ที่ผู้อ่านกระทืบเท้าปึงปังด้วยความไม่พอใจ
อย่างไรก็ตาม…
หากใช้คำเสียดสีจากผู้อ่านมากล่าวก็คือ ‘โทษตายละเว้นได้ โทษอยู่ยากหลบเลี่ยง[1]’
ไม่ว่าฉู่ขวงจะจัดการตอนจบได้ดีอย่างไร ก็ไม่อาจเปลี่ยนความจริงที่ว่าในตอนจบเขาได้ทิ้งระเบิดลูกใหญ่ใส่ผู้อ่าน
‘เจ้าแก่นี่ทำนิสัยเสียอีกแล้ว!’
‘พวกเราถูกแกงกันถ้วนหน้า’
‘เดาว่าเขาคงกำลังรู้สึกกระหยิ่มใจ พวกคุณดู ในฆาตกรรมบนรถด่วนโอเรียนท์เอ็กซ์เพรสบอกใบ้ถึงตอนจบนี้ไว้แล้ว ไม่ช้าก็เร็วปัวโรต์ก็ต้องเผชิญหน้ากับทางรอดของเขาเอง’
‘ผมเกลียดเจ้าแก่ฉู่ขวงจริงๆ!’
‘ครั้งหน้าถ้าเจ้าแก่ฉู่ขวงจะทิ้งระเบิด เราต้องรีบไปหยุดเขาไว้!’
‘ให้ตายเถอะ ที่จริงมันกลายเป็นมีมไปแล้ว ทุกครั้งที่ดูพวกหนังสือซีรีส์ ถ้ารู้สึกว่าผู้สร้างกำลังจะทิ้งระเบิด ในพื้นที่แสดงความคิดเห็นจะมีคนไปเขียนว่ารีบไปดึงมือเจ้าแก่ฉู่ขวงเร็ว’
‘…’
นี่คือเรื่องจริง
ยามนี้ในใจของผู้อ่าน ฉู่ขวงได้มีภาพลักษณ์คล้ายกับอุโรบุชิ เก็นไปแล้ว
อุโรบุชิ เก็นก็คือนักเขียนบทและนักเขียนนิยายจากแดนอาทิตย์อุทัย
เนื่องจากคนคนนี้ค่อนข้างจริงจัง มีความสามารถในการคิดเชิงตรรกะที่แข็งแกร่ง จึงทำให้ผู้คนหล่นลงสู่ความคิดอันลึกซึ้งซึ่งมอบหนทางทางจิตวิญญาณให้แก่พวกเขา ดังนั้นจึงได้รับคำชื่นชมจากผู้อ่านที่สูงมาก
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะดีหรือแย่ อุโรบุชิ เก็นก็เป็นผู้สร้างสรรค์เอง
ถึงแม้ผลงานของอุโรบุชิ เก็นจะยอดเยี่ยม แต่โดยพื้นฐานแล้วเขายึดถือสไตล์การเขียนที่ค่อนข้างมืดมน ประหนึ่งว่าถ้าไม่เขียนให้ใครสักคนตายแล้วจะนอนไม่หลับ จนทุกคนที่อ่านผลงานของเขาจะรู้สึกอกสั่นขวัญแขวนอยู่ตลอดเวลา เพราะผู้อ่านไม่รู้เลยว่าตัวละครที่ตนชอบนั้นจะตายตอนไหน
ฉู่ขวงก็ทำเช่นนี้ไม่ใช่หรือ?
ผู้อ่านนึกไม่ถึงเลยว่าในตอนจบนิยายชุดรหัสคดีของปัวโรต์ ปัวโรต์จะตาย!
เขาทำได้ยังไง!
เขากล้าทำได้ยังไง!
ความนิยมของของปัวโรต์นั้นสูงมากในหมู่แฟนวรรณกรรมสืบสวนสอบสวน นักเขียนทั่วไปไม่กล้าเล่นแบบนี้หรอก
แต่ฉู่ขวงกล้า!
ไม่เพียงผู้อ่านที่เหนื่อยล้าทั้งกายและจิตใจ นักเขียนหลายคนในวงการ รวมไปถึงบรรณาธิการทั้งหลายต่างก็หมดคำจะพูด
“น่ากลัวไปอีก”
“เจ้าแก่ฉู่ขวงแรงไม่เผื่อใครเลย”
“คิดว่าลิมิตของเขาจะไปหยุดอยู่ที่เขียนให้ปี้เหยาตายนะ นึกไม่ถึงว่าเขาจะกล้าเขียนให้ปัวโรต์ตาย”
“ปี้เหยาไม่ใช่ตัวเอก ตายแล้วก็ปล่อยไปได้ แต่นึกไม่ถึงว่าแม้แต่ตัวเอกเขายังกล้าเขียนให้ตาย!”
“ประเด็นคือก่อนที่ปี้เหยาจะตาย ความนิยมก็ไม่นับว่าสูง แต่ความนิยมของปัวโรต์นี่ทะลุยอดพีระมิดเลยนะ!”
“ฉู่ขวงบ้าบิ่นจริง แถมหยิ่งด้วย สมแล้วที่เป็นบุรุษผู้ซึ่งต่อสู้แบบหนึ่งต่อเก้าในการประชันวรรณกรรม!”
“โหดเกิ๊น!”
“ทุกวันนี้นักเขียนคนอื่นมีแต่ต้องคอยเอาใจคนอ่าน มีแต่ฉู่ขวงนี่แหละที่วันๆ เอาแต่ปั่นประสาทคนอ่าน”
มีคนกล่าวสรุปว่า
วงการนิยายเกิดการลุกฮือขึ้นสองครั้ง ครั้งแรกเป็นเพราะฉู่ขวง ครั้งที่สองก็เป็นเพราะฉู่ขวง
……………………………………………..
[1] โทษตายละเว้นได้ โทษอยู่ยากหลบเลี่ยง หมายถึง โทษประหารสามารถได้รับการละเว้น แต่ก็ต้องได้รับการลงโทษในรูปแบบอื่นขณะมีชีวิตอยู่ หรือต่อให้รอดไปได้ก็ต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานอยู่ดี