ตอนที่ 76 เตรียมเขียนบทความ
หลังจากค้นพบสารนั้น ไป๋เยี่ยก็เปิดคอมพิวเตอร์ขึ้นมาและเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของห้องแล็บ
สารประกอบชนิดนี้มีโครงสร้างที่เล็กและมีปริมาณน้อย แต่เมื่อมันทำปฏิกิริยากับอาร์เทแอนนิวอินก็จะเกิดสรรพคุณที่ดีต่อการรักษาโรค!
ผลลัพธ์ของการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติก็คือ ถ้าแยกปัจจัยที่มีอิทธิพลอื่นๆ ออกไปได้แล้วและนำสารชนิดนี้มาผสมเข้ากับอาร์เทแอนนิวอินก็จะรักษาโรคมาลาเรียได้
แต่แท้จริงแล้วสารชนิดนี้คือสารอะไรกันแน่ เหตุใดจึงมีคุณสมบัติเช่นนี้ ไป๋เยี่ยสับสนเล็กน้อย
นี่พวกเขาไม่เคยค้นพบสารนี้จริงๆ เหรอ
ก็เป็นไปได้
ไป๋เยี่ยวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในช่วงสิบห้าปีที่ผ่านมา จากนั้นจึงได้พบกับข้อสรุป!
นั่นคือการที่เขาได้ค้นพบสารชนิดนี้นี่เอง
‘โจเซฟ โกลด์สตีน’ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์เคยกล่าวไว้ว่า
‘การพัฒนาของชีวเวชศาสตร์นั้นเกิดขึ้นจากกระบวนการสองกระบวนการ ได้แก่ กระบวนการการค้นพบและการประดิษฐ์สร้างสรรค์”
ไป๋เยี่ยรู้ว่าเขาค้นพบสารนี้ได้เพราะว่าเขาคำนวณและตรวจสอบข้อมูลตลอดเวลา แน่นอนว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่นั้นอาจจะไม่มีความหมายอะไร แต่สิ่งนี้จะกลายเป็นผลงานของเขาสืบไป
ต้องตรวจสอบ!
ตลอดระยะเวลาสองวัน ไป๋เยี่ยใช้เวลาไปกับการค้นคว้าและศึกษาสารชนิดนี้อย่างละเอียด ละเอียดกระทั่งข้อมูลที่ขยายออกมาจากการศึกษาสารดังกล่าว
เวลาสองวันผ่านไปไวเหมือนโกหก ไป๋เยี่ยจัดการตนเองให้เรียบร้อยและมุ่งหน้าไปที่ซาลอนแห่งนั้นทันที
ผู้คนในซาลอนต่างไม่คิดดูถูกไป๋เยี่ยเลยแม้แต่น้อย ทว่าในทางกลับกัน พวกเขากลับเฝ้ารอว่าไป๋เยี่ยจะมีคำถามแบบไหนมาถามพวกเขามากกว่า
ไป๋เยี่ยรู้สึกยินดีที่มีโอกาสได้พูดคุยกับทุกคน คนกลุ่มนี้ล้วนเป็นมีประสบการณ์กันทั้งนั้น ดังนั้นไป๋เยี่ยจึงไม่รีรอ รีบใช้แคปซูลเร่งค่าประสบการณ์สิบเท่าทันที
เขารู้สึกมีความสุขแม้ว่าตัวเขาจะอยู่ที่นี่ได้เพียงเดือนเดียวเท่านั้น เขาจะเรียนรู้และซึมซับประสบการณ์จากที่นี่ได้มากน้อยแค่ไหนย่อมขึ้นอยู่กับตัวเขาเอง
เพียงพริบตาเดียว เวลาก็ผ่านไปครึ่งเดือนแล้ว ไป๋เยี่ยรู้สึกว่าเขาจำเป็นต้องเร่งมือแล้ว
ไป๋เยี่ยฟังคนอื่นๆ พูดคุยแลกเปลี่ยนกันเหมือนกับกำลังฟังรายการวาไรตี้วิชาการอยู่ ทั้งหมดนั้นคือความรู้และประสบการณ์ทั้งนั้น!
คิดได้ดังนั้น เขาก็หยิบสมุดบันทึกเล็กๆ ขึ้นมาจดบันทึกเนื้อหาสำคัญ หรือเนื้อหาที่พอจะจุดประกายความคิดของเขาได้ลงไป และจะนำสิ่งที่จดลงไปกลับมาอ่านในภายหลัง
พวกเขาไม่ได้แลกเปลี่ยนกันแค่ความรู้วิชาชีวเคมีเท่านั้น แต่ยังมีวิชาอื่นๆ ด้วย เช่น สรีรวิทยา ชีววิทยาของเซลล์ และมุมมองที่ละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับสำรวจการทำงานของเซลล์
เช่น การเปลี่ยนแปลงความสามารถในการดูดซึมของเยื่อหุ้มเซลล์และการทำงานของไมโตคอนเดรียเป็นต้น
ทุกคนพูดคุยเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานพลางมองไป๋เยี่ยด้วยความหวังดี
สามชั่วโมงต่อมา ทุกคนก็เงียบลง ทว่าจู่ๆ คาริสก็โพล่งขึ้นมา “ไป๋เยี่ย คุณมีอะไรจะพูดอีกไหม”
คาริสไม่ได้ให้เขาถามในเรื่องที่ยังไม่เข้าใจ แต่ต้องการฟังมุมมองของเขามากกว่า แม้ว่าความหมายของสองประโยคนี้จะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ก็แสดงให้เห็นว่าเขายอมรับในตัวไป๋เยี่ยมากขึ้นโดยไม่คำนึงถึงระดับการศึกษาใดๆ เพราะว่าที่นี่ทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน
ไม่ว่าคุณจะใช้หลักการง่ายๆ อย่าง 1+1 หรือจะใช้หลักการที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นอย่างข้อความคาดเดาของก็อล์ทบัค ก็ล้วนเป็นการพิสูจน์ทางวิชาการทั้งนั้น
ไป๋เยี่ยใช้ความคิดอยู่ครู่หนึ่งแล้วจึงพูดเรื่องสารที่เขาเพิ่งค้นพบขึ้น
คาริสดูจะรู้จักสารชนิดนี้เป็นอย่างดี “สารชนิดนี้ไม่มีความพิเศษอะไรเลย มันเป็นสารที่สกัดออกมาได้ง่ายมาก แถมยังพบได้ในสารประกอบหลายชนิดเหมือนกับโมเลกุลน้ำนั่นแหละ ผมไม่เห็นความสำคัญของสารชนิดนี้จริงๆ นะ อีกอย่าง…”
ทันใดนั้นหญิงสาวผิวดำคนหนึ่งก็แทรกขึ้นมา “ตอนที่ฉันกำลังทดลองเรื่องความเสถียรของรีเอเจนต์ ฉันก็เจอสารชนิดนี้เหมือนกัน แต่ฉันไม่ได้สนใจมันเท่าไหร่ เพราะว่ามีการทดลองสารชนิดนี้ตั้งหลายครั้งแต่ก็ไม่พบความพิเศษของมันเลย”
ทุกคนพากันพูดคุยเกี่ยวกับสารชนิดนี้
ไป๋เยี่ยตั้งใจจดบันทึกอย่างรอบคอบ ความรู้นี้มีประโยชน์มาก และช่วยเบิกทางให้ไป๋เยี่ยได้วิเคราะห์ประเด็นต่างๆ เช่นสรีรวิทยา ชีวเคมี ปัจจัยทางกายภาพและเคมีในการเผาผลาญยา การตอบสนองของร่างกายมนุษย์ การกลั่นยาให้บริสุทธิ์ และการจับคู่สารประกอบ ฯลฯ
ทันทีที่การสนทนาจบลง ไป๋เยี่ยก็ได้ยินเสียง ติ๊ง!
[ติ๊ง! เลเวลวิชาเภสัชวิทยาเพิ่มขึ้นเป็นเลเวล 4!] ไป๋เยี่ยดีใจมาก วิชาเภสัชวิทยาของเขาดีขึ้นมากจริงๆ!
วิชาเภสัชวิทยาคือวิชาที่ว่าด้วยการพูดถึงคุณสมบัติต่างๆ ของยาและกระบวนการเผาผลาญตัวยาเป็นหลัก
หลังจากผ่านไปพักหนึ่ง ไป๋เยี่ยยังคงมีเรื่องอยากพูดอีกมาก แต่ทุกคนก็เหนื่อยมากแล้ว ไป่เยี่ยลุกขึ้นและกล่าวขอบคุณทุกคนด้วยรอยยิ้ม ทุกคนก็ส่งยิ้มกลับมาเช่นกัน
ทุกคนยินดีสนับสนุนไป๋เยี่ยมาก และยิ่งไปกว่านั้น ไป๋เยี่ยเองก็พัฒนาตนเองได้อย่างก้าวกระโดดจริงๆ!
ขณะที่ไป๋เยี่ยกำลังจะเดินออกไป คาริสก็ลุกขึ้น “สัปดาห์นี้ผมมีเรื่องอื่นต้องทำ ไม่ต้องมาบันทึกข้อมูลให้พวกผมแล้วก็ได้”
ไป๋เยี่ยชะงักไปครู่หนึ่ง เขารู้สึกเสียใจเล็กน้อยเพราะคาริสเป็นคนสอนอะไรหลายอย่างให้กับเขา
คาริสเห็นท่าทีของไป๋เยี่ยก็อดหัวเราะไม่ได้ “ฮ่า ฮ่า! เดือนหน้าผมอาจจะต้องกลับไปเข้าร่วมการประชุมที่เดนมาร์กกับศาสตราจารย์ถู คุณใช้อุปกรณ์ของผมได้เลยนะ!”
ไป๋เยี่ยได้ยินดังนั้นก็ตาเป็นประกาย ใช้เครื่องมือพวกนั้นได้จริงๆ เหรอ
ได้โอกาสละ!
เขายังคงติดใจกับสารชนิดนี้ว่ามันมีความเกี่ยวข้องกับอาร์เทแอนนิวอินอย่างไร
ดังนั้นจึงอยากจะพิสูจน์สักหน่อย
สัปดาห์ต่อมาเป็นช่วงพักร้อน ไป๋เยี่ยจึงตั้งใจจะมาที่กลุ่มทดลองที่หนึ่ง
คนอื่นๆ ไม่ได้แบ่งงานไว้ให้ไป๋เยี่ย เพราะพวกเขารู้ว่าช่วงนี้ไป๋เยี่ยเพิ่งจะค้นพบสิ่งใหม่ๆ
นี่ถือเป็นเรื่องที่ดี!
การมีความคิดใหม่ๆ ถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับนักวิจัย เพราะอย่างน้อยคุณก็จะพิสูจน์ความคิดของคุณได้
ไป๋เยี่ยแยกสารอาร์เทแอนนิวอินออกโดยอิงตามคุณสมบัติทางเคมีและกายภาพ จากนั้นก็ทำให้บริสุทธิ์และสกัดออกมา ถือเป็นขั้นตอนเบื้องต้น
ไป๋เยี่ยใช้เวลาไปทั้งหมดสองวันกว่าจะทดลองเสร็จ
เขาพยายามจะผสมสารชนิดนี้เข้ากับอาร์เทแอนนิวอิน แต่สารทั้งสองชนิดกลับเข้ากันไม่ได้เลย เขาปรึกษาทุกคนในกลุ่มที่หนึ่งและได้รับคำแนะนำมากมาย เช่น ให้ใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูโครงสร้างทางกายภาพของสาร
เพียงแต่ว่า…วิธีการนี้ยากเกินไปสำหรับไป๋เยี่ย เขาจึงเอาแต่ทดลองทั้งวันทั้งคืน
อีกทั้งไป๋เยี่ยยังค้นพบว่าสารทั้งสองชนิดนี้ผสมกันได้ยากมาก เพราะฉะนั้น…เขาจะต้องทำอย่างไรถึงจะไม่สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างของสารและทำให้สารทั้งสองชนิดผสมกันได้
ครั้งนี้ไป๋เยี่ยปิ๊งไอเดียหนึ่งขึ้นมาได้ เขานึกขึ้นได้ถึงวิธีการทำยาจีน
ในช่วงต้นของราชวงศ์จิ้นตะวันออก เก๋อหง[1]ได้เขียนวิธีการทำยาไว้ในตำรา ‘โจ่วโฮ่วเป้ยจี๋ฟาง[2]’
‘นำโกฐจุฬาลำพาไปแช่น้ำ จากนั้นก็บิดน้ำออกเป็นอันสำเร็จ!’
ไป๋เยี่ยชะงัก!
แทนที่จะใช้วิธีการต้มแบบเดิมๆ แต่กลับเลือกใช้วิธีบิดน้ำออกแทน หรือว่าอุณหภูมิจะเป็นปัจจัยทำลายโครงสร้างของสารกันนะ
เมื่อไป๋เยี่ยสกัดสารอาร์เทแอนนิวอินได้แล้วก็เริ่มทดลองวิธีอื่นต่อไป
จนกระทั่งวันที่หก ในที่สุดไป๋เยี่ยก็สร้างสารที่มีส่วนผสมระหว่างอาร์เทแอนนิวอินและสารชนิดนั้นขึ้นได้สำเร็จ และตั้งชื่อว่า ‘สารอาร์เทแอนนิวอินเชิงซ้อน’
คืนนั้น ไป๋เยี่ยก็ลงมือเขียนบทความทันที โดยวิเคราะห์ข้อมูลและประสิทธิภาพในการรักษาของสารอาร์เทแอนนิวอินเชิงซ้อนตั้งแต่ปี 2001 ถึงปี 2015
เขาตั้งชื่องานวิจัยชิ้นนี้ว่า ‘การศึกษาย้อนหลังเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารอาร์เทแอนนิวอินเชิงซ้อน’
เหลือแค่ส่งไปให้สำนักพิมพ์สินะ
[1] เก๋อหง เป็นนักเล่นแร่แปรธาตุและแพทย์แผนจีนในยุคราชวงศ์จิ้นตะวันออก
[2] โจ่วโฮ่วเป้ยจี๋ฟาง หรือ ตำราคู่มือรักษาโรคฉุกเฉิน เป็นตำราแพทย์แผนจีนที่เขียนขึ้นโดยเก๋อหง