ตอนที่ 143 จุดสนใจของเอ็มไอโอ
ไป๋เยี่ยขอให้เหล่าหยางช่วยคัดเลือกหนูเคเอ็มที่มีลักษณะโดดเด่นและนำมันไปเพาะเลี้ยงในพื้นที่พิเศษทีละตัว
ไป๋เยี่ยแบ่งอาหารหนูออกเป็นสัดส่วน เพราะว่าในฐานเพาะพันธุ์ยังมีอาหารหนูเหลืออยู่มาก
หยางกวงตงรู้สึกประหลาดใจเล็กน้อยเมื่อได้ยินไป๋เยี่ยบอกว่าเขาอยากจะเตรียมอาหารหนูเอง ตอนแรกเขาพยายามโน้มน้าวให้ไป๋เยี่ยหันมาให้ความสนใจเรื่องอาหาร แต่เขาก็ต้องล้มเลิกความคิดนั้นไป
หยางกวงตงได้แต่ปล่อยให้ไป๋เยี่ยทำไป เพราะอย่างไรตอนนี้เขาก็เป็นเพียงลูกจ้างเท่านั้น ไป๋เยี่ยจะทำอะไรตามใจก็ได้
ในสายตาของเหล่าหยาง เขามองว่าไป๋เยี่ยได้กลายเป็นเศรษฐีรุ่นเยาว์รุ่นที่สองแล้ว จิตใจของเขาเต็มเปี่ยมไปด้วยความหลงใหล จินตนาการ และงานวิจัย
ช่วงเวลาที่ฐานทดลองค่อยๆ ผ่านพ้นไป ไป๋เยี่ยไม่ได้สนใจเรื่องมหาวิทยาลัยแล้ว มิหนำซ้ำยังขอลาพักร้อนจากจางฮั่นหลินและหูเฟิงอวิ๋นอีกด้วย
สำหรับไป๋เยี่ยแล้ว ผู้อำนวยการได้มอบเวทีให้เขาได้แสดงศักยภาพออกมาอย่างอิสระ อย่างไรตัวเขาก็เก่งกาจเกินกว่าจะยืนอยู่แค่ที่ตรงนั้น
ช่วงนี้ไป๋เยี่ยยุ่งมาก เขากำลังกำหนดขั้นตอนทำงานให้ตนเองอยู่
เวลามีค่ามาก วันหนึ่งเขาใช้เวลาไปเยอะมาก ถ้าไม่เกิดผลอะไรก็คงจะเหนื่อยฟรี
ไป๋เยี่ยเริ่มจากการเขียนบทความเกี่ยวกับเกณฑ์การประเมินหนูทดลอง เมื่อเทียบกับบทความก่อนหน้าแล้ว บทความนี้ดูจะมีความเจาะจงมากกว่า เพราะเขาเขียนเกณฑ์ประเมินอย่างละเอียดลงไปด้วย
เขาเขียนบทความชื่อ ‘เกณฑ์การประเมินหนูทดลอง บีพีเอฟเอช’
ซึ่งถ้าพูดให้ดีคือ ไป๋เยี่ยคัดลอกเกณฑ์นี้มาจากตำรา ‘ประสบการณ์การเลี้ยงหนู’ ของแซคเกอร์
และด้วยการสนับสนุนจากฐานทดลอง แม้ว่าจะมีใครต้องการตรวจสอบเกณฑ์ดังกล่าว ก็ยังมีความน่าเชื่อถืออยู่ดี
เมื่อผ่านการตรวจสอบแล้ว สิ่งที่ไป๋เยี่ยต้องทำต่อไปก็คือให้เจ้าหน้าที่จากสถาบันวิจัยสัตว์ทดลองเอ็มไอโอเข้ามาตรวจสอบและเผยแพร่บทความนี้
เรื่องนี้จะต้องเกิดแรงกระเพื่อมในวงการหนูทดลองอย่างแน่นอน พอถึงตอนนั้น ไป๋เยี่ยก็จะพิสูจน์ได้ด้วยเกณฑ์ของเขาว่าหนูทดลองของเขาดีกว่าของที่อื่น
แล้วยังมีอาหารหนูซึ่งเป็นจุดขายสำคัญอีกด้วย และเนื่องจากเป็นอาหารหนูที่ไป๋เยี่ยผลิตขึ้นเอง สิ่งแรกที่เขาต้องทำก็คือยื่นขอสิทธิบัตร
เมื่อเกณฑ์การประเมินได้รับความนิยมและได้รับการยอมรับจากผู้แล้ว คะแนนไอเอฟของบทความก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
การเพาะเลี้ยงสัตว์ก็ถือเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งเช่นกัน
แน่นอนว่าที่ไป๋เยี่ยต้องทำสิ่งเหล่านี้เพราะเขาไม่มีทุนพอที่จะดำเนินการวิจัยขั้นต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบบจำลอง หรือเพาะพันธุ์หนูขึ้นมาใหม่ ล้วนเกินกว่าที่เขาจะทำได้ด้วยเงินทุนที่มีในปัจจุบัน
ไป๋เยี่ยคิดแล้วก็ถอนหายใจ ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนในเรื่องเงินทุนและอุปกรณ์ สมมติฐานการวิจัยต่างๆ ก็คงไม่เกิดขึ้น
ดังนั้นสิ่งแรกที่ไป๋เยี่ยต้องมีคือเงิน!
เขาไม่ได้ระบุว่าต้องการเงินจำนวนเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยมันต้องมากพอที่จะดำเนินงานวิจัยต่อไปได้ถูกไหม
หลังจากที่เขียนบทความเสร็จแล้ว ไป๋เยี่ยก็ส่งบทความของเขาไปให้วารสาร ‘การส่งเสริมการใช้สัตว์ทดลอง‘
ตั้งแต่ได้รับบทความของไป๋เยี่ย เอ็มไอโอก็มีงานยุ่งทันที
ทำไมกันล่ะ
ก็เพราะว่าบทความ ‘การคาดเดาเกี่ยวกับผลกระทบของหนูทดลองที่มีต่อการทดลองและระบบการประเมินคะแนน’ ของไป๋เยี่ยนั้นเป็นที่สนใจของทางสถาบันมาก
ผู้อำนวยการและประธานคนปัจจุบันของเอ็มไอโอคืออดีตหัวหน้าวิศวกรของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบแผนกทดลองยาชนิดใหม่ในสัตว์ เขาตัดสินใจลาออกเมื่ออายุห้าสิบห้าปี และเข้าร่วมกับเอ็มไอโอแทน
อาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันเอ็มไอโอไม่ใช่สถาบันวิจัยอิสระอีกต่อไป แต่เป็นสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ระดับสูง
เงินทุนดังกล่าวมาจากกลุ่มชีวเภสัชภัณฑ์ชั้นนำอย่างจอห์นสันแอนด์จอห์นสันและไฟเซอร์ และมีบุคลากรเฉพาะทางจำนวนมาก ทั้งยังมีอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยในเครือไอวี่ลีค และบุคลากรอีกจำนวนมากที่มาจากสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ
สถาบันวิจัยดังกล่าวซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นโดยบุคลากรจำนวนมากก็ยังคงยืนหยัดมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งยังพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ
จุดประสงค์ของพวกเขาคือแบ่งปันเทคโนโลยีระหว่างสาขาวิชาชีพเพื่อบรรลุมาตรฐานระดับสูงของหน่วยงาน
การทดลองในสัตว์เป็นสะพานเชื่อมกับนวัตกรรมทางการแพทย์และเทคโนโลยี และเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดก่อนจะนำไปทดลองกับมนุษย์
หากการทดลองในสัตว์ผ่านไปได้ด้วยดี ขั้นตอนต่อไปก็จะง่ายขึ้นมาก การทดลองในมนุษย์ถือเป็นการทดลองทางคลินิกอย่างหนึ่ง และจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำหากผลการทดลองในสัตว์ออกมาไม่แน่นอน
ระบบการประเมินที่เสนอโดยไป๋เยี่ยสร้างความประทับใจให้กับคนในเอ็มไอโอมาก มีการจัดการประชุมครั้งใหญ่มากกว่าสามครั้งเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นนี้
ในเดือนที่ผ่านมา บุคลากรในเอ็มไอโอต่างพยายามคิดเกณฑ์การประเมินหนูที่สมบูรณ์แบบเพื่อกำหนดเกณฑ์การประเมินที่เที่ยงตรงพอ
ทางสถาบันจึงได้เพิ่มแผนการดำเนินงานนี้ลงไปในแผนงานของปีใหม่
ตามปกติแล้วบรรณาธิการจัดเรียงต้นฉบับที่ได้รับและแบ่งหมวดหมู่ของบทความโดยเรียงลำดับตามลำดับเวลาและส่งไปให้บรรณาธิการที่มีหน้าที่ตรวจสอบอีกที
ในขณะที่พวกเขากำลังแยกอีเมล์อยู่นั้น อีเมล์ฉบับหนึ่งจากประเทศจีนก็ดึงดูดความสนใจของพวกเขาไป ทว่าสิ่งที่ดึงดูดพวกเขากลับไม่ใช่ชื่อบทความแต่เป็นชื่อผู้เขียน ซึ่งก็คือไป๋เยี่ยนั่นเอง!
ช่วงนี้ภายในสถาบันเอ็มไอโอกล่าวถึงชื่อนี้บ่อยกว่าชื่อของผู้อำนวยการสถาบันเสียอีก
เมื่อได้รับอีเมล์ฉบับนี้แล้ว บรรณาธิการคนนั้นก็ตัดสินใจส่งอีเมล์ฉบับนี้ให้ผู้อำนวยการอ่านก่อน หลังจากที่เขาใช้ความคิดอยู่ครู่หนึ่งก็ตัดสินใจลุกไปที่สำนักงาน
เขาคิดว่าผู้อำนวยการจำเป็นจะต้องอ่านอีเมล์ฉบับนี้
ผู้อำนวยการเอ็นเดอร์สกำลังนั่งตรวจเอกสารอยู่ที่โต๊ะทำงานตามปกติ ช่วงนี้ที่เอ็มไอโอกำลังยุ่งอยู่กับเรื่องมาตราส่วนอยู่ ซึ่งผู้อำนวยการเอ็นเดอร์สก็ดูจะเบื่อเรื่องนี้แล้วเช่นกัน
ทันทีที่ได้ยินเสียงเคาะประตู เอ็นเดอร์สก็ลุกขึ้นไปเปิดประตูทันที
“ผอ.ครับ มีอีเมล์ฉบับหนึ่งที่ท่านน่าจะสนใจ!” บรรณาธิการกล่าวอย่างตื่นเต้น
เอนเดอร์สส่ายหัวพลางโบกมือไปมาอย่างหยอกล้อ ก่อนจะเอ่ยขึ้นทั้งรอยยิ้ม “โน โน โน! ตอนนี้ผมไม่อยากอ่านบทความอะไรเลย เว้นแต่ว่ามันจะเป็นจดหมายรักจากเฮปเบิร์นน่ะนะ”
บรรณาธิการยิ้ม “อีเมล์นี้มาจากประเทศจีนครับ ผู้เขียนก็คือไป๋เยี่ย บทความนี้มีชื่อว่า ‘การคาดเดาเกี่ยวกับผลกระทบของหนูทดลองที่มีต่อการทดลองและระบบการประเมินคะแนน’ ครับ ผมส่งไปให้ท่านอ่านแล้วครับ”
ทันทีที่ได้ยินชื่อไป๋เยี่ย เอ็นเดอร์สก็ตกตะลึงไปชั่วขณะ เขาเดินตรงไปที่คอมพิวเตอร์และเปิดไฟล์บทความที่ถูกส่งมา เมื่อเขาเปิดมันออกก็ต้องเบิกตากว้างด้วยความตะลึง
‘เกณฑ์การประเมินหนูทดลอง บีพีเอฟเอช’
เอ็นเดอร์สล้มเลิกความคิดที่จะลุกไปชงกาแฟ แล้วมุ่งความสนใจไปที่การอ่านบทความนั้นทั้งหนึ่งชั่วโมงเต็มๆ แทน!
เมื่ออ่านจบ เอ็นเดอร์สก็นิ่งเงียบไปราวกับว่ากำลังครุ่นคิดอะไรบางอย่าง ทันใดนั้นเอง เขาก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาพร้อมหันไปที่เลขาของเขา “ไปแจ้งทุกคนว่าบ่ายวันนี้เราจะมีการประชุม ผู้รับผิดชอบทุกคนต้องมาเข้าร่วมด้วย”