ขาดทุนไม่อั้น ขอแค่ฉันได้เป็นเศรษฐี – บทที่ 118 นี่คือการจัดฉาก!

ขาดทุนไม่อั้น ขอแค่ฉันได้เป็นเศรษฐี

คืนนั้น เวลาสองทุ่ม คลิปซีรีส์ใหม่แกะกล่องก็ผ่านกระบวนการตรวจสอบ

คลิปตอนแรกของซีรีส์ ‘ผลงานเทพสร้าง’ มีชื่อว่า ‘เกมนักออกแบบเกมและการจัดฉากครั้งใหญ่!’

บรรดาผู้ติดตามของอาจารย์เฉียวงงเป็นไก่ตาแตก

เกิดอะไรขึ้น

ไม่ใช่ว่าเขาแกล้งตายไปแล้วเหรอ

แกล้งตายได้สามวันก็กลับมาแก้ตัวอย่างนั้นเหรอ

แถมยังรับสปอนเซอร์รีวิวเกมเดิมอีก นี่ตั้งใจจะปั่นกระแสชัดๆ!

ช่วงนี้ ‘ภาษาเฉียว’ กำลังเป็นกระแสในเว็บไซต์วิดีโอหลายเว็บไซต์ ถึงนักสร้างคอนเทนต์คนอื่นๆ จะลงคลิปแบบเดียวกัน แต่อาจารย์เฉียวเป็นคนแรกที่ลงคลิปนี้ ดังนั้นเขาจึงกลายเป็นตัวตั้งตัวตีของความโกลาหลครั้งนี้

ถ้าลงคลิปในสถานการณ์แบบนี้ คนได้มาคอมเมนต์เกี่ยวกับมีมกันเต็มไปหมดแน่

หรือว่าเขา…คิดว่าไม่มีอะไรจะเสียแล้วเลยไม่กลัวอะไร

ในเมื่อไม่มีทางกอบกู้ชื่อเสียงคืนมาได้ ก็เลยคิดจะเกาะกระแสด้านลบต่อเพื่อสร้างชื่ออย่างนั้นเหรอ หรือไม่ก็คิดจะเกาะกระแส ‘ภาษาเฉียว’ กอบโกยทำกำไร

ดูจากสถานการณ์ปัจจุบันของอาจารย์เฉียวแล้ว คงเป็นเรื่องยากที่ผู้ติดตามจะไม่คิดกันแบบนี้

ชาวเน็ตพร้อมด่ากันเต็มที่ตอนที่เปิดคลิปเข้าไปดูด้วยความกังวล บางคนก็อยากจะเข้ามาดูความโกลาหลเฉยๆ

แต่ประโยคแรกของอาจารย์เฉียวก็ทำให้พวกเขาต้องเงียบปากไป

“สวัสดีครับทุกท่าน ผมอาจารย์เฉียวเอง

“ผมรู้ว่าทุกท่านอยากจะด่าผม แต่ก่อนอื่น ผมมีเรื่องน่าเศร้าอยากจะมาประกาศ

“สามวันก่อน วันที่ 1 เมษายน วันเมษาหน้าโง่ เราได้จัดฉากครั้งใหญ่และประสบความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึง แต่ผลลัพธ์จากการจัดฉากครั้งนี้น่าหดหู่เหลือเกิน

“ใช่ครับ ธีมของการจัดฉากครั้งนี้คือ ในยุคดิจิทัล คอนเทนต์แบบไหนจะเป็นกระแสได้ง่ายที่สุดระหว่างคลิปสั้นที่ตั้งใจทำออกมาให้ดูโง่กับเกมคุณภาพเยี่ยมที่มีเนื้อหาสุดลึกซึ้งและทุ่มทุนสร้างไปหลักล้าน

“หลังจากการทดลองเสร็จสิ้น ผมรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ต้องประกาศผลลัพธ์ให้ทุกท่านทราบว่า

“คอนเทนต์แรกชนะครับ”

หลายคนอยากจะเปิดฉากด่ากราด แต่คำพูดเปิดคลิปก็ทำเอาต้องกลืนคำด่าลงคอ

มีเพียงความงุนงงที่เข้ามาแทนที่

ว่าไงนะ จัดฉากเหรอ

จัดฉากอะไร

พวกเขาดูคลิปต่อด้วยความงงงวย

อาจารย์เฉียวแนะนำเรื่องการจัดฉากต่อ

เขาอธิบายแนวคิดและคำจัดการความของการจัดฉาก รวมถึงแรงจูงใจของการจัดฉากที่เขาเพิ่งจะมีส่วนร่วมไป

ตามที่เขาอธิบาย การจัดฉากครั้งนี้บริษัทเถิงต๋าเป็นคนริเริ่ม มีจุดประสงค์ในการสำรวจหัวข้อที่ลึกซึ้งมาก

ในยุคดิจิทัล ผู้คนถูกยัดเยียดข้อมูลให้มากมาย เป็นยุคที่มีทั้งการล้นทะลักของข้อมูลข่าวสารและการขาดข้อมูลข่าวสาร

การล้นทะลักของข้อมูลข่าวสารคือการที่คนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมากในทุกๆ วัน อุบัติเหตุเล็กน้อยที่มุมหนึ่งของเมืองเล็กอาจจะเป็นข่าวดังขึ้นมาได้ในชั่วข้ามคืนอย่างไม่มีเหตุผล วันต่อมา ทุกคนในประเทศก็รู้เรื่องอุบัติเหตุนี้แล้ว

การขาดข้อมูลข่าวสารคือการที่ข้อมูลที่มีแก่นสาระสำคัญจมหายไปกับข้อมูลขยะประโลมโลกจำนวนมากที่แสนจะจรรโลงใจและมาไวไปไว

ดังนั้นการจัดฉากครั้งนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อทำการเปรียบเทียบในเรื่องนี้

อาจารย์เฉียวและนักสร้างคอนเทนต์คนอื่นๆ ต้องอัปโหลดคลิปของตัวเองขึ้นเว็บไซต์ โดยเนื้อหาคลิปก็ไม่ได้มีอะไรมาก แต่ทำออกมาในทางที่ค่อนข้างเว่อร์และเน้นพูดอวยเกม คลิปของทุกคนมีความคล้ายคลึงกันมาก นอกจากนี้ยังใช้บทแบบเดียวกัน

มีการใช้กลยุทธ์หลายอย่างเพื่อดึงความสนใจจากคนดู เช่น พูดจีนปนอังกฤษเพื่อแหย่คนดู และใช้วิธีพูดประหลาดๆ อื่นๆ

ตัวคลิปไม่มีแก่นสารหรือสาระสำคัญใดๆ แต่เนื่องจากมีอัปโหลดมาสเตอร์หลายคนอัปโหลดคลิปนี้ขึ้นพร้อมๆ กัน แถมเนื้อหายังตั้งใจทำมาดึงดูดความสนใจสุดๆ อีก ชาวเน็ตจึงเข้ามาโหนกระแสกันใหญ่ ก่อนจะกลายเป็นกระแสที่ไม่เคยมีมาก่อนบนอินเทอร์เน็ต!

เรื่องนี้ยืนยันได้ด้วย ‘ภาษาเฉียว’ ที่ฮิตกันอย่างรวดเร็ว

คลิปที่ตั้งใจทำเนื้อหาออกมาโง่ๆ ดังเป็นพลุแตก กลายเป็นมีมดังเพราะเนื้อหามันโง่แสนโง่ หลายคนก็เข้ามาเกาะกระแสกันใหญ่

เรื่องนี้พิสูจน์ได้ว่า ในยุคนี้ หลายๆ เรื่องที่จู่ๆ ก็ดังขึ้นมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยนั้น จริงๆ แล้วมีคนแอบวางแผนมาแล้วเป็นอย่างดี!

ในทางกลับกัน เกมนักออกแบบที่บริษัทเถิงต๋าเพิ่งปล่อยออกมานั้นขายไม่ค่อยออก

ตัวเกมมีเนื้อหาที่ลึกซึ้งมากซ่อนอยู่ ผู้เล่นต้องอดทนค้นให้เจอ

เนื้อเรื่องของเกมเปิดโปงสภาพของอุตสาหกรรมเกมในปัจจุบัน รวมถึงความโกลาหลในอุตสาหกรรมนี้ ไม่ว่าจะเป็นเสียงพากย์ งานภาพ หรือระบบการเล่น ต่างกลั่นออกมาด้วยความจริงใจและความสร้างสรรค์

แต่สภาพของเกมที่มีเนื้อหาสุดลึกซึ้งนี่เป็นยังไงน่ะหรือ

ได้รีวิวผสมปนเป ผู้เล่นไม่ให้การยอมรับ!

ผู้เล่นส่วนใหญ่ไม่ได้เล่นเกมไปไกลนัก แค่ห้านาทีก็เลิกเล่นกันแล้ว

การเปรียบเทียบระหว่างคลิปสั้นและเกมดังกล่าวคือเป้าหมายหลักของการจัดฉากครั้งนี้ ถือเป็นตลกร้ายในตัวเอง!

หลายคนอึ้งไปเมื่อดูคลิปมาจนถึงช่วงนี้

เรื่องเป็นแบบนี้เองเหรอ

พอมาคิดดูๆ ดี ก็ฟังดูค่อนข้างสมเหตุสมผล

บริษัทเกมไหนจะโง่ขนาดตั้งใจจ้างให้นักสร้างคอนเทนต์มาโฆษณาเกมตัวเองทุเรศๆ ทำแบบนี้จะไม่กระทบกับภาพลักษณ์ของบริษัทและสินค้าหรอกเหรอ

ถึงอาจารย์เฉียวจะไม่ได้เป็นคนมีจริยธรรมขนาดนั้น แต่ก็พูดได้ว่าเขาเป็นคนที่ทุ่มเทใจทั้งใจให้กับคลิปที่ปล่อยออกมาก่อนหน้านี้อย่างเต็มที่ ทำไมจู่ๆ ถึงใช้วิธีโง่ๆ แบบนี้ในการทำคลิปสปอนเซอร์กันล่ะ

ไม่ใช่ว่ามันผิดจากบุคลิกของเขา แต่ผิดจากเชาว์ปัญญาของเขาต่างหาก

นอกจากนี้ยังไม่ได้มีแค่อาจารย์เฉียว แต่มีนักสร้างคอนเทนต์อีกหลายคนที่ใช้บทแบบเดียวกันในการทำคลิป จะอธิบายเรื่องนี้ยังไงดี

เป็นเพราะนักสร้างคอนเทนต์พวกนี้ลอกบทอาจารย์เฉียวไปดื้อๆ เหรอ

ไม่มีทาง!

มีเหตุผลเดียวที่อธิบายเรื่องนี้ได้ คือบริษัทเถิงต๋าส่งบทเดียวกันนี้ให้ทุกคน!

ทำไมลูกค้าเจ้าใหญ่ถึงอยากให้นักสร้างคอนเทนต์ที่จ้างมาใช้บทเดียวกันล่ะ แถมบทยังเขียนออกมาห่วยแตกอีก

ให้นักสร้างคอนเทนต์ทำคลิปกันเองไม่ดีกว่าเหรอ

ไม่ก็เอาเงินก้อนนี้ไปทุ่มโฆษณาให้มันดีๆ ไปเลย

แต่บริษัทเถิงต๋ากลับเลือกใช้วิธีโง่ๆ นี้ในการโฆษณา สั่งให้นักสร้างคอนเทนต์ทุกคนใช้บทเดียวกันเพื่อสร้างกระแสแบบตรงกันข้ามกับที่ควรจะเป็น!

ทำแบบนี้ดูไม่สมเหตุสมผลเลยสักนิด

คิดดูแล้ว คำอธิบายของอาจารย์เฉียวดูจะฟังเข้าเค้ามากที่สุด

นี่คือการจัดฉากครั้งใหญ่!

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือเครื่องพิสูจน์

‘ภาษาเฉียว’ ดังเป็นพลุแตก แต่เกมนักออกแบบเกมเงียบเป็นป่าช้า

ที่นี้ก็พิสูจน์ได้แล้วไม่ใช่เหรอ ในยุคดิจิทัล พวกสื่อบันเทิงที่แฝงความหมายลึกซึ้งถูกฝังลืม ในขณะที่ข้อมูลขยะกระจายว่อนทั่วโลกอินเทอร์เน็ต!

ยิ่งฟังก็ยิ่งรู้สึกว่าสมเหตุสมผลมาก

พวกเขาดูคลิปต่อ

เนื้อหาในคลิปเปลี่ยนไปพูดเรื่องเกมนักออกแบบเกม

เรื่องนี้ถือเป็นจุดแข็งของอาจารย์เฉียว

คลิปซีรีส์นี้ใช้ชื่อว่า ‘ผลงานเทพสร้าง’ มีสไตล์การรีวิวที่แตกต่างจากซีรีส์สับเละเกมกากและแนะนำเกมใหม่ประจำเดือน

อาจารย์เฉียววิเคราะห์ให้ฟังว่าทำไมเกมนักออกแบบเกมถึงควรได้รับยกย่องให้เป็นผลงานขึ้นหิ้ง

“ผู้เล่นหลายคนคิดว่าองค์ประกอบหลักในการตัดสินว่าเกมไหนควรได้รับยกย่องให้เป็นผลงานขึ้นหิ้งคือ งานภาพ ระบบการเล่น เนื้อเรื่อง การควบคุม ความยากง่ายในการเล่น และองค์ประกอบอื่นๆ

“แต่องค์ประกอบเหล่านี้ก็ทำได้แค่แยกแยะ ‘ผลงานดี’ ออกจาก ‘ผลงานทั่วไป’ ไม่สามารถวัดได้ว่าเป็น ‘ผลงานขึ้นหิ้ง’ หรือเปล่า

“‘ผลงานขึ้นหิ้ง’ จะต้องสร้างอิมแพคให้กับอุตสาหกรรมเกม ต้องแฝงความหมายลึกซึ้ง สามารถทนรับการวิจารณ์ซ้ำๆ ได้ และต้องสะท้อนถึงจิตวิญญาณของเรา!

“ผลงานที่ทำแบบนั้นไม่ได้ไม่นับว่าเป็นผลงานยอดเยี่ยม เรียกว่าเป็นผลงานขึ้นหิ้งไม่ได้

“เกมนักออกแบบเกมคือผลงานขึ้นหิ้งที่ตรงตามมาตรฐานทุกอย่าง!”

…………….

ขาดทุนไม่อั้น ขอแค่ฉันได้เป็นเศรษฐี

ขาดทุนไม่อั้น ขอแค่ฉันได้เป็นเศรษฐี

Status: Ongoing
ต้องทำธุรกิจให้ “ขาดทุน” เขาถึงจะรวย แต่ไม่รู้ดวงดีหรือดวงซวย ถึงได้แต่ “กำไร” เนี่ย!เผยเชียนย้อนเวลากลับไปเมื่อ 10 ปีก่อนโดยมีระบบสั่งให้เขาตั้งบริษัทอะไรก็ได้เพื่อหาเงินทำกำไรโดยจะมีการประเมินกำไรขาดทุนเป็นรอบๆแต่เผยเชียนเป็นคนหัวหมอ เขาดูแล้วว่าถ้าเขาทำธุรกิจได้กำไร เขาจะได้ส่วนแบ่งเข้ากระเป๋าตัวเองแค่ 1:100แต่ถ้าเขาขาดทุน เขาจะได้ส่วนแบ่ง 1:1 เขาจึงคิดจะตั้งบริษัทเกม และหาทางทำให้บริษัทขาดทุนด้วยการสร้างเกมที่ไม่น่าจะฮิตบ้างล่ะ ขายเกมราคาถูกบ้างล่ะ เอาเงินไปละลายกับการเช่าตึกและซื้ออุปกรณ์ทำงานต่างๆ บ้างล่ะแต่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่ขาดทุนสักที เกมที่คิดว่าไม่น่าจะขายได้ก็ดันขายดีเป็นเทน้ำเทท่าทำไมการทำธุรกิจให้ขาดทุนมันถึงเป็นเรื่องยากขนาดนี้ล่ะเนี่ย?!

นิยายแนะนำ

แสดงความคิดเห็น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ปรับฟอนต์

**ถ้าปรับโหมดมืดอยู่** ให้เปลี่ยนเป็นโหมดสว่าง ก่อนจะปรับสีพื้นหลัง
รีเซ็ท