“แม่คะหนูอยากเป็นเจ้าหญิงสโนว์ไวท์!”
“พ่อฮะ ซื้อเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ให้หน่อย วันนี้หวาหวาเล่าเรื่องเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ให้เพื่อนๆ ฟังในชั้นเรียน ลี่ลี่ก็เลยแบ่งขนมล่าเถียวให้หวาหวากินด้วย ผมยังไม่เคยกินขนมล่าเถียวของลี่ลี่เลย”
“แม่คะเรามาเล่นแสดงละครกันเถอะ”
“แม่รับบทเป็นราชินี หนูเป็นเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ ไปแต่งหน้าเร็วค่ะ แล้วถามกระจกของตัวเองว่า กระจกวิเศษบอกข้าเถิด ใครงามเลิศในปฐพี!”
“แม่ไม่รู้จักเจ้าหญิงสโนว์ไวท์เหรอคะ”
“วันนี้หงหงให้พวกเราเล่นกัน หงหงเป็นเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ หนูเป็นราชินี ราชินีเป็นคนไม่ดี แถมยังกินแอปเปิลที่หนูเอาไปโรงเรียนด้วย กินเสร็จยังบอกว่าแอปเปิลของหนูมีพิษ ฮือๆๆๆๆๆๆๆๆ”
“…”
หลังจากที่ผู้ใหญ่ชมภาพยนตร์หรืออ่านนิยายที่น่าสนใจแล้ว ก็จะแบ่งปันและพูดคุยกัน ส่งผลให้เกิดกระแสของผลงานดังกล่าวเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง
เหตุการณ์คล้ายกันก็เกิดขึ้นในหมู่เด็กๆ
โลกของเด็กถึงแม้จะเรียบง่าย แต่พวกเขาก็จะแบ่งปันเรื่องราวที่ตนชื่นชอบเช่นกัน ทำให้นิทานเรื่องโปรดของทุกคนถูกเผยแพร่ไปในรูปแบบต่างๆ
และผู้ที่จะตอบสนองต่อคำเรียกร้องของเด็กๆ ก็คือบรรดาผู้ปกครอง
เพราะฉะนั้นยามที่วันที่สองมาถึง คงเป็นเรื่องยากที่ผู้ปกครองอีกจำนวนหนึ่งจะไม่รู้จักเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ เพราะในช่วงบ่ายหลังเลิกเรียน เด็กหลายคนก็ไปงอแงกับผู้ปกครองของตน
ลูกคือดวงใจของครอบครัว
ผู้ปกครองทำได้เพียงไปสอบถามความคืบหน้าจากแม่คนอื่นๆ บางครั้งก็เข้าอินเทอร์เน็ตและเสิร์ชหาเรื่องเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ และรู้ว่าเป็นนิทานเด็กเรื่องหนึ่งจากนิตยสารประเภทนิทาน…
ในขณะนั้นเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันก็จะถึงเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ โรงเรียนเริ่มทยอยกันปิดภาคเรียนฤดูหนาว
ในเวลาเช่นนี้ ถ้าหากลูกๆ ขอซื้อหนังสือนิทานสักเล่ม ผู้ปกครองไม่มีทางปฏิเสธ
และบนโลกออนไลน์
มีอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังคนหนึ่งเอ่ยถึงนิทานเรื่องนี้
“ผมเป็นน้าคนแล้วครับ ก่อนกลับบ้านไปฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิก็มักจะโทรไปถามหลานว่าอยากได้ของขวัญอะไร เดิมทีคิดไว้แล้วว่าคงจะต้องซื้อของเล่น ปรากฏว่าหลานชายอยากซื้อเจ้าหญิงสโนว์ไวท์อะไรสักอย่าง เจ้าเด็กคนนี้ปกติแล้วจะชอบให้ผมซื้อเครื่องบินเอย ปืนใหญ่เอย (ที่เป็นของเล่น) นึกไม่ถึงเลยว่าปีนี้จะเอาใจได้ง่ายๆ ด้วยนิทาน”
อินฟลูเอนเซอร์คนนี้โพสต์อวด ‘ราชานิทาน’
ในพื้นที่แสดงความคิดเห็นมีคอมเมนต์มากมาย
‘ฮ่าๆ น้องสาวของผมที่เรียนประถมก็ให้ผมซื้อให้เหมือนกัน’
‘โอ้ ฉันก็ว่าลูกสาวฉันพูดอะไรเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ๆ ตลอดช่วงกลางวัน ที่แท้ก็เป็นนิทานที่เพิ่งปล่อยออกมาใหม่นี่เอง’
‘ก่อนหน้านี้ไม่เคยได้ยินชื่อราชานิทานเลย ตอนเด็กๆ ฉันฟังแต่เจ้าเต่าน้อย หลังจากนั้นก็พวกลูกหมูสามตัว’
‘เจ้าหญิงสโนว์ไวท์ดังแล้ว วันนี้จะไปซื้อนิตยสาร แต่สินค้าหมด!’
‘ไม่ใช่ร้านหนังสือแถวบ้านผมสินค้าหมดแค่ที่เดียวหรอกเหรอเนี่ย’
‘เดี๋ยวนะ นักเขียนเรื่องเจ้าหญิงสโนว์ไวท์นี่คือฉู่ขวง?’
‘หมายถึงเจ้าแก่ฉู่ขวงที่พวกเราคุ้นเคยน่ะหรือ?’
‘เห็นที่คลังหนังสือซิลเวอร์บลูโปรโมต เหมือนว่าจะใช่นะ ฉู่ขวงเขียนนิทานด้วย!’
‘ไม่กี่วันก่อนหน้านี้เห็นข่าวแล้ว แต่ไม่ได้สนใจอะไร นึกไม่ถึงว่านิทานเรื่องนี้ของฉู่ขวงจะดังขนาดนี้’
‘ฉู่ขวงไม่ใช่นักเขียนนิยายสืบสวนสอบสวนหรอกหรือ?’
‘ฉู่ขวงไม่ใช่นักเขียนนิยายแฟนตาซีหรอกหรือ?’
‘ฉู่ขวงไม่ใช่นักเขียนเรื่องสั้นหรอกหรือ?’
‘ตอนนี้ฉู่ขวงนับว่าเป็นนักเขียนนิทานเด็กอีก?’
‘…’
แรกเริ่มเดิมทีเป็นเพียงกระแสลมระลอกหนึ่ง
แต่หลังจากเมื่อร้านหนังสือเผชิญกับนิตยสารราชานิทานขาดสินค้าชั่วคราว
บนโลกออนไลน์ก็สนใจประเด็นสนทนาและถกเถียงเกี่ยวกับฉู่ขวงมากขึ้น
กระแสลมระลอกนี้ก็เริ่มส่งเสียงหวีดหวิว!
นิทานเรื่องเล็กๆ อย่างเจ้าหญิงสโนว์ไวท์โด่งดังแล้ว!
เหมือนว่าเราไม่ควรพูดว่าเจ้าหญิงสโนว์ไวท์เป็นนิทานเรื่องเล็กๆ
เพราะนี่เป็นถึงหนึ่งในผลงานเด่นจากเทพนิยายกริมม์[1]เชียวนะ
และเทพนิยายกริมม์ ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผลงานนิทานซึ่งเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก และองค์กรยูเนสโกก็ได้ขนานนามว่าเป็น ‘ผลงานรวมเล่มซึ่งบุกเบิกยุคสมัยใหม่ของนิทานยุโรปและตะวันออก’
ถึงขั้นที่มีสำนักพิมพ์บางแห่งกล่าวว่าในประเทศซึ่งนับถือคริสตศาสนา เทพนิยายกริมม์มียอดขายเป็นรองเพียงคัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น
คำกล่าวนี้ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าจริงหรือเท็จ ถึงอย่างไรผลงานใดซึ่งมีการจดบันทึกยอดขาย ก็มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับคัมภีร์ไบเบิลเสมอ
คัมภีร์ไบเบิลจึงกลายเป็นหน่วยวัดยอดขายหนังสือไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม มีบางสิ่งที่ระบุได้แน่ชัด ตัวอย่างเช่น นิทานซึ่งได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางมานับร้อยปีเช่นนี้ เรียกได้ว่ารู้จักกันทั่วบ้านทั่วเมือง
ยกตัวอย่างเช่นเรื่องเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ เป็นนิทานเรื่องแรกของโลกซึ่งถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมชั่นที่มีสี!
ในแง่หนึ่ง นิทานได้ถักทอความฝันของเด็กๆ นับไม่ถ้วนบนโลก และเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จำเป็นต้องเอ่ยถึง
เมื่อชาวเน็ตสังเกตเห็นกระแสลมระลอกใหญ่จากนิทานเรื่องนี้ หลายคนตกตะลึงในระดับที่แตกต่างกัน
‘พระเจ้าช่วย ฉู่ขวงเขียนนิทานได้เหมือนกันเหรอเนี่ย’
‘ตอนที่เพิ่งได้ยินว่าฉู่ขวงเขียนนิทาน ผมเองก็ไม่สนใจ คิดแค่ว่าฉู่ขวงเขียนเล่นๆ นึกไม่ถึงว่านิทานเรื่องนี้จะแรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่แล้ว!’
‘เขียนนิทานก็กลายเป็นกระแสได้ขนาดนี้เลย?’
‘ฉันเองก็เพิ่งได้อ่านเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ เขียนได้น่าสนใจจริงๆ แต่ว่าฉันไม่ใช่เด็ก ไม่เข้าใจว่าทำไมเด็กๆ ถึงชอบเรื่องนี้ขนาดนั้น’
‘หลานชายฉันชอบเรื่องนี้มาก’
‘ฉู่ขวงก็เขียนวรรณกรรมได้หลากหลายประเภทไปอีกกก!’
‘พรสวรรค์ด้านการเขียนของเจ้าแก่ฉู่ขวงน่ากลัวสุดๆ เลย!’
‘ผมเพิ่งเห็นในกลุ่มแช็ตของผู้ปกครอง คุณครูบอกว่าลูกผมจะแสดงเรื่องเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ในละครเวทีของโรงเรียน เสื้อผ้าสั่งตัดแล้ว ลูกผมใฝ่ฝันอยากเล่นเป็นเจ้าหญิงสโนว์ไวท์’
‘…’
ทุกคนไม่ได้ตกใจว่าเรื่องเจ้าหญิงสโนว์ไวท์สนุกแค่ไหน ผู้ใหญ่ไม่มีวันกลับสู่โลกของเด็กได้อีกแล้ว
ทุกคนเพียงแต่ตกใจกับความกระตือรือร้นที่เด็กๆ มีต่อเรื่องเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ และฉู่ขวงซึ่งรับมือกับความชื่นชอบของเด็กๆ ได้อยู่หมัด!
แน่นอน
ทางคลังหนังสือซิลเวอร์บลูไม่มีทางไม่รับรู้ถึงความเคลื่อนไหวที่ใหญ่เช่นนี้
ลำพังเสียงโอดครวญจากร้านหนังสือซึ่งขาดสินค้า ก็มากพอให้ทั้งแผนกนิทานเด็กของคลังหนังสือซิลเวอร์บลูตกอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่ครึกครื้นระคนแปลกประหลาดแล้ว
แน่นอนว่าต้องครึกครื้นอยู่แล้ว
แต่แปลกประหลาดก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน
เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าในนิตยสารราชานิทานฉบับแรก นักเขียนซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดจะไม่ใช่จินซาน และไม่ใช่ฉีฉี…
แต่เป็นฉู่ขวง!
ฉู่ขวงที่เขียนนิทานเป็นครั้งแรก!
ในห้องทำงานของสุ่ยจูโหรว
สุ่ยจูโหรวและผู้ช่วยนิ่งอึ้ง ทั้งสองต่างคนต่างมองหน้ากันท่ามกลางความเงียบงัน ราวกับเพียงมองตาก็เข้าใจความจนใจและความเหลือเชื่อของกันและกัน
“ทำไมล่ะ”
สุ่ยจูโหรวทำลายความเงียบ
ผู้ช่วยครุ่นคิด น้ำเสียงแหบพร่าเล็กน้อย “เพราะเขาคือฉู่ขวงล่ะมั้ง”
ด้านข้าง
ในห้องทำงานของจางหยาง
จางหยางและผู้ช่วยของเขาก็ตกตะลึงเช่นเดียวกัน
ผ่านไปนาน กว่าจางหยางจะเอ่ยออกมาด้วยสีหน้าเศร้าใกล้จะร้องไห้อยู่รอมร่อ “ทำไมถึงมีคนแบบนี้อยู่บนโลก เขาเขียนนิทานเป็นครั้งแรกไม่ใช่หรือไง ทำไมถึงเขียนออกมาจนเหมือนว่าอาจารย์จินซานกับอาจารย์ฉีฉีต่างหากที่เขียนนิทานเป็นครั้งแรก!”
“ผมก็ไม่อยากเชื่อเหมือนกัน”
สีหน้าของผู้ช่วยแลดูซับซ้อนกว่าใคร “แต่จู่ๆ ก็นึกถึงเรื่องหนึ่งขึ้นมาได้”
“เรื่องอะไร”
“คุณชอบเรื่องฆาตกรรมโรเจอร์ แอ็กครอยด์ใช่ไหมล่ะครับ ที่จริงแล้วเรื่องนั้นก็เป็นผลงานแนวสืบสวนสอบสวนชิ้นแรกของฉู่ขวงเหมือนกัน ก่อนหน้านั้นหลายคนก็ไม่เชื่อว่าฉู่ขวงจะเขียนแนวสืบสวนสอบสวนออกมาได้ดี”
“มันเหมือนกันตรงไหน!”
“แล้วมันไม่เหมือนกันตรงไหนล่ะครับ?”
“…”
จางหยางเงียบไป
ในขณะนั้น
เสียงร้องดีใจจากห้องทำงานของหลินเซวียนก็ดังไปถึงห้องทำงานของจางหยางและสุ่ยจูโหรว
“เป็นไงล่ะค้าบ! ฉู่ขวงสุดยอดไปเลย!”
จางหยางนั่งลงบนเก้าอี้ ดื่มน้ำอึกใหญ่ และเนื่องจากเร่งรีบเกินไป จึงสำลักจนไอโขลกอยู่นาน
“ฉู่ขวงสุดยอดก็จริง…”
ในห้องทำงานของสุ่ยจูโหรว หญิงสาวผมยาวใบหน้าสวยสะคราญเอ่ยเสียงเรียบ
เธอไม่ได้อารมณ์เสีย คำพูดของเธอหนักแน่น
“แต่เรายังมีอาจารย์หยวนหยวนที่เหนือกว่า!”
…………………………………………………………..
[1] เทพนิยายกริมม์ (Grimms’ Fairy Tales) หนังสือรวมนิทานพื้นบ้านและตำนานปรัมปราของยุโรป ผู้เขียนคือสองพี่น้องตระกูลกริมม์ วิลเฮล์ม กริมม์ และยาค็อบ กริมม์ ชาวเยอรมัน
รอไรมาอัพตอนใหม่อยู่น้าาาค้าา