ตอนที่ 131 งานสัมมนาวิชาการครั้งใหญ่
วันนี้ถือเป็นวันพิเศษสำหรับวงการวิชาการในมณฑลจิ้นซี
งานสัมมนาวิชาการครั้งใหญ่ถูกจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยแพทย์แผนจีนจิ้นซีและมหาวิทยาลัยในมณฑลจิ้นซีอีกสิบห้าแห่งอย่างเป็นทางการ!
วิทยากรในการบรรยายหัวข้อเรื่องการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและประสบการณ์ต่างๆ คือ ‘คาร์ล แทรปสตัน‘ รองบรรณาธิการของวารสารชื่อดังระดับโลก ‘เซลล์‘ ส่วนวิทยากรคนอื่นๆ ก็เป็นศาสตราจารย์ด้านงานวิจัยที่มีชื่อเสียงในมณฑลจิ้นซีและบรรณาธิการวารสารต่างๆ
เรียกได้ว่าเป็นงานสัมมนาวิชาการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยจัดขึ้นในมณฑลจิ้นซี
งานสัมมนาครั้งนี้ได้รับความสนใจจากองค์กรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพภายในมณฑลอย่างมาก จึงมีการอนุมัติให้ใช้สนามกีฬาประจำมณฑลเป็นสถานที่จัดงาน
แน่นอนว่าสาเหตุมาจากการที่มีคนเข้าร่วมงานสัมมนาเยอะเกินไป ทำให้ห้องจัดนิทรรศการงานวิชาการทั่วๆ ไปรองรับคนได้ไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ งานสัมมนาครั้งนี้ยังดึงดูดความสนใจของผู้คนจำนวนนับไม่ถ้วนจากทั่วทั้งประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้คนก็ยังคงติดภาพจำว่าการศึกษาระดับปริญญาโทและคุณภาพงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในมณฑลจิ้นซีนั้นคือจุดอ่อน จึงเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อว่ารองบรรณาธิการจาก ‘เซลล์‘ จะได้รับเชิญมางานสัมมนาครั้งนี้ด้วย
เรื่องนี้ยังกลายเป็นประเด็นร้อนที่ดึงดูดบุคลากรทางวิชาการและนักวิจัยหลายคนให้มาเข้าร่วม
ในเมื่อทุกคนให้ความสนใจกับเรื่องนี้ ไป๋เยี่ยก็เอาแต่ขลุกตัววิเคราะห์ข้อมูลอยู่ภายในโรงแรมทั้งวันทั้งคืน
ข้อมูลนี้มีความซับซ้อนและยุ่งยากเกินไป
ทว่า…
นี่อาจจะไม่ใช่เรื่องแย่ แต่อาจจะเป็นเรื่องที่ดีก็ได้!
ทำไมถึงพูดแบบนั้น
ก็เพราะว่าไป๋เยี่ยได้ค้นพบว่ามีการใช้เทคโนโลยีมากมายในงานวิจัย ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ต่างก็มีลักษณะเฉพาะในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ของต่างประเทศ
ไป๋เยี่ยใช้เวลาสองวันในการค้นคว้ากว่าจะเข้าใจข้อมูลเหล่านี้คร่าวๆ
ทว่าด้วยเหตุผลบางอย่าง ทำให้คาร์ลก็ไม่ได้อธิบายให้ชัดเจนเท่าไหร่
นี่คือกระบวนการทั้งหมดในการวิจัยและพัฒนายาชนิดใหม่
ขั้นตอนนี้กินเวลามากกว่าสามปี
บางทีการทดลองในคลินิกอาจจะต้องใช้เวลานานกว่านั้น อาจจะเป็นแปดถึงสิบปีเลยก็เป็นได้ แม้ว่าไป๋เยี่ยเองก็ไม่รู้ว่าเหตุใดข้อมูลในส่วนนี้ถึงหายไป
ทว่ากระบวนการดังกล่าวก็ถือเป็นขั้นตอนที่มีคุณค่ามาก
มันคือการวิจัยและพัฒนายาใหม่ที่สมบูรณ์แบบตั้งแต่ขั้นตอนการคิดค้น การเตรียม การออกแบบ การพัฒนา การผลิตยาชนิดใหม่ ไปจนถึงการทดลองในคลินิก
ยาตัวนี้มีคุณค่ามาก และเป็นยาที่ใช้ในระดับโมเลกุลสำหรับการรักษาเนื้องอกและมะเร็ง
ในปัจจุบันก็ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดเนื้องอกอย่างชัดเจนเท่าไหร่นัก ดังนั้นการทดลองดังกล่าวจึงต้องอาศัยการหาลำดับเซลล์เดียว[1] โดยใช้เซลล์เพียงเซลล์เดียวเป็นแม่แบบในการวิจัย
ปัจจุบันการหาลำดับเซลล์เดียวมักถูกนำมาใช้ในการศึกษาเนื้องอกเป็นส่วนใหญ่
ทันทีที่ไป๋เยี่ยได้อ่านสิ่งที่ซับซ้อนนี้ หัวสมองของเขาก็หนักอึ้งไปหมด
วิธีการทางวิศวกรรมชีวภาพที่ซับซ้อนมากที่สุดคือพันธุวิศวกรรม และการทดลองนี้ก็ถือเป็นก้าวแรกของพันธุวิศวกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยาการที่ล้ำสมัยที่สุดในโลก
การพัฒนาเทคโนโลยีการหาลำดับเบสขึ้นใหม่[2]ทำให้ผู้คนตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างโรคของในมนุษย์และความแปรผันของจีโนม[3]
เนื้องอกมักจะเกิดขึ้นในระดับโมโนโคลนอล[4] การตรวจหาความแปรผันของนิวคลีโอไทด์[5]ในนิวเคลียส[6]ของแต่ละเซลล์จึงมีความจำเป็นมาก
เนื้อหาของข้อมูลส่วนแรกโดยรวมเป็นการวิเคราะห์ขั้นตอนการปลูกถ่าย ก่อนปลูกถ่าย ก่อนคลอด และการคัดกรองตัวอ่อน ฯลฯ ในการทดลองอย่างเป็นระบบ
โดยทั่วไปแล้วการหาลำดับเซลล์เดียวจะมีสองวิธีการ หนึ่งคือการจัดลำดับจีโนมของเซลล์เดียวและการจัดลำดับทรานสคริปโตม[7] ซึ่งจะเป็นการวิเคราะห์และเปรียบเทียบดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอของเซลล์เดียวตามลำดับ ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในจีโนมและทรานสคริปโตม
ข้อมูลชุดแรกมุ่งเน้นไปที่การสังเกตกระบวนการถอดรหัสและการแปลงรหัสของเซลล์เดียวเป็นหลัก
กระบวนการทดลองส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเพาะเลี้ยงเซลล์เดียวอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นมะเร็งโดยอาศัยสภาพแวดล้อมภายนอกด้วย ซึ่งกระบวนการนี้ก็ถูกจำกัดขอบเขตเอาไว้แล้ว
ต้องมีการสังเกตการเปลี่ยนแปลงระหว่างการถอดรหัสและการแปลรหัสของดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเออย่างรอบคอบ
แน่นอนว่านี่เป็นหนึ่งในกระบวนการทดลอง
อย่างไรก็ตามนี่ ไม่ใช่หน้าที่ของไป๋เยี่ยเลย หน้าที่ของเขามีเพียงวิเคราะห์ข้อมูลเท่านั้น
ทว่ายาที่มุ่งไปที่การรักษาระดับโมเลกุล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาชนิดที่ต้องอาศัยการวิจัยระดับพันธุกรรมนั้นก็ยังหาได้ยากในประเทศจีน อาศัยเพียงประสบการณ์และเทคโนโลยีอย่างเดียวคงไม่พอ ถ้าหากสามารถวิเคราะห์กระบวนการดังกล่าวออกมาได้ ก็จะเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก
ผลลัพธ์จะปรากฏขึ้นก็ต่อเมื่อได้สังเกตข้อมูลเหล่านี้
น่าประหลาดใจที่ไป๋เยี่ยวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างราบรื่นดี
เพียงวันเดียว ไป๋เยี่ยก็ได้ผลลัพธ์ของการทดลองในส่วนแรกแล้ว
เขาค้นพบจุดที่เกิดการกลายพันธุ์และผลลัพธ์ของการกลายพันธุ์
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ไป๋เยี่ยแปลกใจก็คือ ที่ส่วนท้ายของข้อมูลชุดนี้มีผลลัพธ์อยู่แล้ว!
มีการเขียนผลการวิเคราะห์ข้อมูลไว้ที่ส่วนท้ายของการทดลองในส่วนแรก
ผลลัพธ์นี้เหมือนกับที่เขาวิเคราะห์ทุกประการ
เรื่องนี้ทำเอาไป๋เยี่ยประหม่า
คาร์ลกลับมาในตอนเย็น ทันทีที่เขาเห็นสีหน้าสับสนของไป๋เยี่ยก็เอ่ยปากถามขึ้น
ไป๋เยี่ยพูดขึ้น “ผมลองวิเคราะห์ผลลัพธ์ของการทดลองส่วนแรกแล้ว แต่…ผมเห็นว่าที่ส่วนท้ายก็มีบทสรุปอยู่แล้ว แถมยังเหมือนที่ผมวิเคราะห์เป๊ะๆ เลยด้วย”
ดูเหมือนว่าคาร์ลจะรู้ผลลัพธ์นี้อยู่แล้ว เขาจึงเอ่ยปากถามพร้อมกับขมวดคิ้ว “การวิเคราะห์ขั้นตอนแรกติดปัญหาอะไรหรือเปล่า”
ไป๋เยี่ยส่ายหัว “ไม่ ไม่มีปัญหาอะไรครับ! ผมรับประกันว่าจะไม่มีปัญหาแน่นอน…คุณอยากให้ผมวิเคราะห์อะไรล่ะ”
คาร์ลได้ยินคำพูดของไป๋เยี่ย เขาก็มีท่าทีกระสับกระส่ายเล็กน้อยก่อนจะเดินไปรอบๆ ห้องโดยไม่พูดอะไร
ผ่านไปไม่นาน เขาก็ดูจะตั้งสติได้ก่อนจะพูดขึ้น “คำนวณส่วนที่สองของข้อมูล โปรดคำนวณอย่างระมัดระวัง อย่าลืมใส่ใจทุกรายละเอียดและดูให้ดีว่ามีปัญหาใดๆ หรือไม่ จำไว้นะครับ…อย่าพลาดเด็ดขาด”
ไป๋เยี่ยสัมผัสได้ว่าเสียงของคาร์ลนั้นค่อนข้างแหบแห้งผิดปกติ!
จริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นกันแน่
ไป๋เยี่ยได้แต่นึกถึงข้อมูลชุดนี้ทั้งคืน
ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ฉันคำนวณซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ผลลัพธ์ก็เหมือนกับของอีกฝ่าย
แม้แต่ความน่าจะเป็นก็ยังเหมือนกันเลย!
เช้าวันต่อมา ไป๋เยี่ยและคาร์ลลงมากินบุฟเฟ่ต์อาหารเช้าด้วยกัน ระหว่างมื้ออาหาร คาร์ลดูมีท่าทีเคร่งเครียดเล็กน้อย อาจจะเป็นเพราะเมื่อคืนเขานอนหลับไม่สนิทก็เป็นได้
ก่อนที่คาร์ลจะออกเดินทาง เขาก็ทำท่าทีเหมือนกับว่ากำลังจะพูดอะไร ทว่าเขาก็หมุนตัวเดินออกไปทันที
ไป๋เยี่ยไม่ได้ใส่ใจวัตถุประสงค์ของการทดลองและบันทึกวิธีการทดลองนัก
เพราะว่าต้นทางไม่ได้ให้รายละเอียดที่ชัดเจนพอ เพียงแค่อธิบายวิธีการที่ใช้ในขั้นตอนที่หนึ่ง จากนั้นจึงสรุปผลลัพธ์ของข้อมูล ต่อให้ใช้เทคโนโลยีล้ำเพียงใดก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี
เพราะฉะนั้นก็อย่าได้ไปเปลืองแรงคิดเลย!
แค่ลองวิเคราะห์ข้อมูลให้รอบคอบก็พอ
วิธีนี้ดูจะเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ไป๋เยี่ยใช้เวลาสามวันไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผลลัพธ์ในส่วนที่สอง…
ไม่แปลกใจเลยที่ผลลัพธ์จะเหมือนกับอีกฝ่ายทุกประการ
รู้สึกกระอักกระอ่วนยังไงก็ไม่รู้…
นี่…เราไม่ได้ทำอะไรด้วยตัวเองเลยเหรอ
แม้ว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ตรงกับคำตอบอยู่แล้วก็ตาม
ถ้านี่เป็นการสอบ ไป๋เยี่ยคงจะรู้สึกมีความสุขมาก เพราะผลลัพธ์ที่ได้นั้นเหมือนกับคำตอบ ทำไมเขาจะไม่พอใจล่ะ
ทว่านี่ไม่ใช่การสอบ เมื่อนึกถึงสถานะของคาร์ลแล้ว ไป๋เยี่ยก็รู้สึกว่าจุดประสงค์ของคาร์ลคงไม่ใช่แค่ต้องการให้เขาตรวจสอบความถูกต้องอย่างแน่นอน!
เป็นไปได้ไหมว่าเขาต้องการผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป
วันนี้การบรรยายของคาร์ลก็จบลงแล้ว เย็นวันนั้น ทุกคนจึงร่วมโต๊ะกันทานอาหารเย็นเพื่อเป็นการกล่าวขอบคุณวิทยากรทุกท่าน
[1] การหาลำดับเซลล์เดียว (Single Cell Sequencing) คือ วิธีการหาลำดับของเซลล์โดยอิงตามข้อมูลโครงสร้างที่เรียกว่ากรดนิวคลิอิกของเซลล์แต่ละเซลล์
[2] เทคโนโลยีการหาลำดับเบสที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ (Next Generation Sequencing; NGS) เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่ใช้สำหรับการหาลำดับเบสหรือรหัสสารพันธุกรรม สามารถวิเคราะห์ข้อมูลลำดับเบสได้ในปริมาณมาก
[3] จีโนม คือข้อมูลทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต
[4] โมโนโคลนอล คือสารภูมิต้านทานโมโนโคลน หรือ สารภูมิต้านทานจากโคลนของเซลล์เดียว เป็นสารภูมิต้านทานที่ผลิตโดยเซลล์ภูมิคุ้มกัน
[5] นิวคลีโอไทด์ คือโครงสร้างพื้นฐานของกรดนิวคลีอิก
[6] นิวเคลียส คือส่วนประกอบของเซลล์ที่บรรจุสารพันธุกรรมไว้
[7] ทรานสคริปโตม (Transcriptome) คือการถอดรหัสอาร์เอ็นเอทุกชนิดในเซลล์