หลังจากที่เห็นว่านี่เป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้นที่ผู้อ่านหลายคนจึงตระหนักได้ทันที…
ตนเหมือนว่าอ่านการเดินทางสู่ประจิมทิศไม่เข้าใจ?
สิ่งที่ขาใหญ่เห็น คือความหมายแฝงของในนิยาย คืออุปมาในเนื้อเรื่อง คือชั้นเชิงของโครงเรื่อง
ปรากฏว่าผู้อ่านทั่วไปอ่านไปพลางร้องว่า
‘ซุนหงอคงสุดยอด!’
‘พญาวานรสุดยอดมาก!’
คลาดเคลื่อนไปจากประเด็นสำคัญ!
เนื้อเรื่องของนิยายเรื่องนี้ยอดเยี่ยม
ทว่าความยอดเยี่ยมที่แท้จริงของการเดินทางสู่ประจิมทิศคือสิ่งเหล่านั้นซึ่งควรค่าแก่การขบคิด หรือแม้แต่พินิจพิจารณา
อุปมาและความนัยล้วนมีอยู่ทุกที่!
สิ่งที่น่าสะพรึงกลัวที่แท้จริง คือความจริงอันน่าตกใจซึ่งนิยายไม่ได้เขียนออกมาชัดเจน แต่กลับถูกเปิดเผยระหว่างบรรทัด!
มิน่าล่ะอดีตประธานสมาคมวรรณศิลป์ถึงได้ออกตัวสนับสนุนการเดินทางสู่ประจิมทิศถึงได้!
ผ่านไปไม่นาน
การตีความนี้แพร่สะพัดไปในหมู่ผู้อ่าน สักพักหนึ่ง ผู้อ่านซึ่งชื่นชอบบันทึกการเดินทางสู่ประจิมทิศก็มั่นใจขึ้นมา
‘ขาใหญ่สุดยอดไปเลย!’
‘ที่แท้การเดินทางสู่ประจิมทิศก็อ่านกลับหลังได้ด้วย!’
‘ผมคิดว่านี่คือเรื่องราวที่เหมาะสมกับทุกคนในครอบครัว นึกไม่ถึงว่าการเดินทางสู่ประจิมทิศที่แท้จริงจะมืดมนขนาดนี้’
‘คิดแค่ว่าอาจารย์และลูกศิษย์ทั้งสี่คนเดินทางไปยังตะวันตกเพื่อกำจัดความชั่วร้าย ผดุงความดีงามแต่ปีศาจที่มีเบื้องหลังไม่ตายแม้แต่ตนเดียว นี่มันนิยายเทพปกรณัมที่ไหนกัน นี่มันสมจริงซะยิ่งกว่าสมจริง!’
‘ตอนนี้ฉันรู้สึกสงสารซุนหงอคงเลย’
‘กลายเป็นโต้วจ้านเซิ่งฝัวตะวันตก ฟังดูดีอยู่หรอก แต่ที่จริงแล้วเห็นชัดๆ ว่านี่เป็นเรื่องราวของการต่อต้านที่ล้มเหลว ถูกพระตถาคตปราบปราม และเรียกตัวไปรับตำแหน่ง’
‘ซุนหงอคง สุดท้ายแล้วสูญเสียสัญชาติญาณดิบ’
‘คิดตามแล้วก็อดเศร้าไม่ได้ รู้สึกราวกับว่าตัวเองกำลังมีชีวิตอยู่ในบันทึกการเดินทางสู่ประจิมทิศ มีความกดดันของหงอคง มีร่างกายคล้ายโป๊ยก่าย หัวล้านเหมือนซัวเจ๋ง ขี้บ่นขี้งอแงเหมือนภิกษุถัง’
‘ทำไมยิ่งอ่านยิ่งรู้สึกว่าโดนการเดินทางสู่ประจิมทิศหลอก?’
‘…’
บทวิจารณ์หนังสือกระหน่ำเข้ามาราวกับดอกเห็ดซึ่งผุดขึ้นหลังฝนตก
เพียงแค่เปิดเว็บบอร์ดยอดนิยมสักแห่ง ย่อมเห็นความคิดเห็นมากมายหลายสิบหน้าให้ตามอ่านได้ไม่รู้จบ
นอกจากนั้น
การตีความนี้ยังทำหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้น กระตุ้นให้ผู้คนขบคิดอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับโครงเรื่องมากขึ้น
การตีความซึ่งยิ่งอ่านยิ่งลึกซึ้ง!
หลากหลายมุมมองที่แตกต่างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ !
ชาวเน็ตอ่านจนตกตะลึง!
ถึงขั้นที่มีคนกล่าวว่า สิ่งที่เรียกว่าการเดินทางสู่ประจิมทิศ นั้นเป็นการบำเพ็ญตนของภิกษุถังเพียงคนเดียว!
ซุนหงอคง ตือโป๊ยก่าย และซัวเจ๋งล้วนไม่มีตัวตนอยู่จริง!
เพราะฉะนั้น
ทันทีที่คำวิจารณ์นี้ปรากฏขึ้น ก็ดึงดูดความสนใจจากผู้อ่านบันทึกการเดินทางสู่ประจิมทิศได้นับไม่ถ้วน!
ไม่เพียงเพราะการตีความนี้น่าตื่นเต้นเพียงพอ แต่ยังเป็นเพราะผู้เขียนบทวิจารณ์หนังสือเล่มนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจารณ์หนังสือซึ่งมีชื่อเสียงบนอินเทอร์เน็ต และแม้แต่เป็นนักวิชาการในแวดวงวัฒนธรรม
หัวข้อความคิดเห็นของเขาคือ ‘บางทีในการเดินทางสู่ประจิมทิศ อาจมีภิกษุถังเพียงคนเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ’
ถ้าไม่อ่านเนื้อหา ปฏิกิริยาแรกของใครหลายคนเมื่อเห็นมุมมองนี้คือ…
ไร้สาระ!
คำพูดซึ่งทำให้ตื่นตกใจ!
น่าตกใจยิ่งกว่าซุนหงอคงถูกแทนที่ด้วยวานรหกหูเสียอีก!
รู้สึกว่าการตีความมากมาย ล้วนทำไปเพื่อเรียกร้องความสนใจจากสาธารณะ!
ถึงขั้นที่มีคนบริภาษออกมาทันที
ที่เขียนบทวิจารณ์เหล่านี้ ชอบโพล่งออกมาโดยไม่ทันตั้งตัว
แต่เมื่อทุกคนคลิกเข้าไปคำวิจารณ์หนังสือ กลับต้องอ้าปากค้าง
‘ความจริงแล้ว การเดินทางสู่ประจิมทิศเป็นเพียงการฝึกตนของภิกษุถังเพียงคนเดียว ลูกศิษย์สามคนล้วนเป็นตัวเขาเอง’
‘ฉันรู้ว่าเมื่อคำพูดนี้ออกมา ทุกคนคงรู้สึกสับสน อย่าเพิ่งรีบสาปส่งฉัน มาฟังฉันถกเถียงกับทุกคนเกี่ยวกับนิยายเรื่องนี้กันก่อนดีกว่า’
‘ซุนหงอคง ตือโป๊ยกาย ซัวเจ๋ง หรือแม้แต่ม้ามังกรขาว อันที่จริงล้วนเป็นตัวแทนของปีศาจภายในจิตใจของภิกษุถัง กระบวนการที่เขาฝึกฝนลูกศิษย์ก็คือกระบวนการที่เขาระงับกิเลสของตน!’
‘ไม่เช่นนั้น ระยะทางในการเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกคือหนึ่งแสนแปดหมื่นลี้ และซุนห งอคงตีลังกาได้หนึ่งแสนแปดหมื่นลี้เท่ากันพอดี? ไม่บังเอิญเกินไปหรือ? ทำไมไม่ให้ซุนหงอคงพาเขาตีลังกาไปเลย แต่กลับเดินทางยาวไกล ผ่านความทุกข์ยากทั้งหลาย? เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่มีตัวตนอยู่จริงไงล่ะ! มันเป็นเพียงกิเลสที่ใหญ่ที่สุดของภิกษุถัง คือทางลัดสู่สวรรค์ในก้าวเดียว นอกจากนั้น ซุนหงอคงยังเป็นตัวแทนถึงความหุนหันพลันแล่นและความดุร้าย ลิงตัวนี้ตรงไปตรงมา ไม่มั่นคง และไม่ถ่อมตน ช่วงต้นและช่วงกลางกล่าวได้ว่ากล้าหาญชาญชัย!’
‘ลูกศิษย์ซึ่งหมกมุ่นในตัณหาอย่างตือโป๊ยก่าย เป็นตัวแทนของกามารมณ์ เชื่อว่าทุกคนมีภาพจำอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับเนื้อเรื่องช่วงแคว้นอิตถี อันที่จริงในแคว้นอิตถีไม่ได้มีอันตรายมากมายนัก แต่ทำไมฉู่ขวงถึงเน้นย้ำอย่างละเอียดนัก? นั่นเพียงเพราะว่า ภิกษุถังเป็นมนุษย์ เป็นคนย่อมมีเจ็ดอารมณ์หกปรารถนา และจิตใจซึ่งมีต่อพระพุทธองค์ไม่ควรถูกกระตุ้นด้วยจิตใจเยี่ยงปุถุชน เพราะฉะนั้นเนื้อเรื่องในช่วงนี้จึงสำคัญมาก ภิกษุถังมองออกถึงความอารมณ์และความสัมพันธ์ของตนเองในจุดนี้!’
‘ส่วนซัวเจ๋ง…’
‘เพราะฉะนั้นความลำบากระหว่างการเดินทางล้วนเป็นความทุกข์ทรมานในจิตใจของภิกษุถัง ความสงบแห่งจิตคือการตื่นรู้ในนิพพาน ความมีสติก่อเกิดผล ละเว้นกามละเว้นกิเลสคือศีลแปด ละเว้นการฆ่าละเว้นความโกรธคือความสงบ ร่างกายและจิตใจสะอาดน้อมสู่พระพุทธองค์ เคหาสน์แห่งจิตคือชมพูทวีป!’
‘สิ่งที่เรียกว่าการเดินทางสู่ประจิมทิศก ก็คือการบำเพ็ญตนของภิกษุถัง!’
ฟังดูเหมือน…
มีเหตุผลอยู่นะ?
ทั้งอาจารย์และลูกศิษย์ ล้วนเป็นความหมกมุ่นและปีศาจในใจของภิกษุถัง
ในพื้นที่แสดงความคิดเห็น
บางคนเข้าใจและตอบกลับในทันที
‘ดูเหมือนจะคล้ายกับทฤษฎีปัญจธาตุอยู่นะ ซุนหงอคงคือใจวานร[1]ของภิกษุถัง หัวใจลิงจัดอยู่ในธาตุไฟ รักการเคลื่อนไหวได้ชื่อว่าเห้งเจีย[2] ต้องตื่นรู้ในความว่างเปลา โป๊ยก่ายคือน้ำในไตของภิกษุถัง จัดเป็นธาตุนี้ ควบคุมเจ็ดอารมณ์หกปรารถนา จึงเรียกว่าศีลแปด ต้องตื่นรู้ในสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ เพราะฉะนั้นจึงมีฉายาว่าหงอเหนง น้ำและไฟไม่อาจเข้ากัน จำเป็นต้องมีดินคอยไกล่เกลี่ย เพราะฉะนั้นจึงมีซัวเจ๋งซึ่งแลดูไม่มีตัวตน เพราะดินคอยประนีประนอม ขัดแย้งได้แต่ไม่ต่อสู้ จำเป็นต้องตื่นรู้ในความสงบ ภิกษุถังคือจิตวิญญาณดั้งเดิม ทางเต๋าจึงเรียกว่าซำจั๋ง ซึ่งก็คือดินแดนแห่งเสวียนจั้ง การเคลื่อนไหวของจิตวิญญาณดังเดิมจำเป็นต้องควบคุมจิตอาชาให้สงบ เพราะฉะนั้นภิกษุถังจึงขี่ม้ามังกรขาวไปอัญเชิญพระไตรปิฎก!’
‘ใช่ๆๆ แค่อ่านชื่อนิยายก็รู้แล้วว่าแปลกๆ ’
‘ชื่อบทของนิยายทั้งเล่มเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ให้ความรู้สึกราวกับเป็นวิธีบำเพ็ญเพียรฉบับสมบูรณ์!’
‘…’
เอาแล้ว!
ยังมีความคิดเห็นเพิ่มมาอีก!
ทฤษฎีปัญจธาตุมาแล้ว!
บำเพ็ญเพียรใดๆ ต่างมากองรวมกันแล้ว!
ประเด็นสำคัญคือ คนเหล่านี้รวบรวมเรื่องราวเหล่านี้เข้าด้วยกัน ทำให้คนรู้สึกถึงความสมเหตุสมผล!
ในช่วงเวลานี้
ผู้อ่านไม่เพียงงุนงง
หลายคนเริ่มสับสนแล้ว…
ความคิดของพวกเขาเริ่มจาก ‘พวกเราอ่านหนังสือเรื่องเดียวกันหรือเปล่า’ กลายเป็น ‘ฉันได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจริงหรือ’
การตีความเหล่านี้เหนือชั้นเกินไป!
เช่นนั้นการตีความไหนถูกต้องล่ะ
การเดินทางสู่ประจิมทิศในความจริงแล้ว…
เป็นอย่างไรกันแน่?
บันทึกการเดินทางสู่ประจิมทิศที่ฉู่ขวงเขียน มีความหมายซ่อนอยู่มากแค่ไหนกัน
เรื่องเหล่านี้หากฉู่ขวงไม่ได้แถลงไขให้ชัดเจน คนนอกไม่มีทางกระจ่าง
แต่ไม่ต้องสงสัยเลย
ไม่ว่าการตีความจะเป็นอย่างไร ข้อสันนิษฐานรูปแบบไหน ล้วนบ่งบอกอย่างชัดเจนได้เพียงว่าบันทึกการเดินทางสู่ประจิมทิศไม่ธรรดา
ในเวลานั้น ถึงขั้นมีคนอดไม่ไหว กลับไปอ่านบันทึกการเดินทางสู่ประจิมทิศอีกรอบ
รอบแรก กลืนทุกสิ่งลงในคำเดียว รีบร้อนเกินไป
รอบที่สอง หลายคนอ่านซ้ำ พร้อมกับทัศนคติซึ่งมุ่งมั่นศึกษาอย่างจริงจัง การตีความหลากหลายรูปแบบส่งผลให้เรื่องราวบันทึกการเดินทางสู่ประจิมทิศควรค่าแก่การศึกษา
คนเหล่านี้คือผู้อ่านซึ่งสนใจศึกษาค้นคว้าอย่างลึกซึ้ง
เมื่อเทียบกันแล้ว
ผู้อ่านซึ่งไม่ได้สนใจอย่างลึกซึ้งมากนัก และชอบอ่านบทสรุปในการถกเถียงระหว่างเหล่าขาใหญ่ ได้เบนความสนใจไปยังบรรดาแฟนคลับบรรพกาลซึ่งก่อนหน้านี้โจมตีบันทึกการเดินทางสู่ประจิมทิศสารพัดรูปแบบมาโดยตลอด…
[1] ใจวานร เปรียบเปรยถึง ความซุกซนและอยู่ไม่สุข
[2] เห้งเจีย ถอดความตามตัวอักษรจะหมายถึง ผู้ที่เดิน หรือผู้ที่เคลื่อนที่ และหากแปลความหมายทางพุทธศาสนาหมายถือผู้ถือพรตซึ่งไม่โกนศีรษะ