บนปู้ลั่ว
ชาวเน็ตยังคงหัวเราะเยาะที่ชาวเยี่ยนโจวใช้สารพัดวิธีในการประจบประแจงฉู่ขวงผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นศัตรูตัวฉกาจ เพียงเพื่อแก้แค้นชาวหาน ปรากฏว่าทันใดนั้นเองก็ต้องตกตะลึงเมื่อพบว่าหลังจากเดวิดเอาชนะไป๋เจี๋ย จึงไปส่งคำท้าประชันวรรณกรรมถึงฉู่ขวง นอกจากนั้นยังส่งภาพซึ่งเต็มไปด้วยเจตนายั่วยุ
‘อห!’
‘ท้าทายฉู่ขวง’
‘เดวิดโอหังจริงๆ !’
‘ครั้งนี้ชาวเยี่ยนมีแผนที่เฉียบแหลม ใช้มีดที่ยืมคนอื่นมาฆ่าคนได้เป็นอย่างดี พวกเขาเหยียบย่ำเดวิดพร้อมกับอวยยศฉู่ขวง ผลปรากฏว่าเดวิดถูกกระตุ้นจนเป็นเรื่อง!’
‘แบบนี้ก็ได้ใช่ไหม?’
‘ว่ากันว่าชาวเยี่ยนร้าย ตอนนี้เห็นทีชาวหานจะร้ายกว่า ความเกรียนเป็นเลิศ เดวิดไม่ใช่แค่เหยียบเท้าชาวเยี่ยน แต่ยังทำให้ฉู่ขวงขุ่นเคืองด้วย เขาคิดจะจัดการฉู่ขวงหลังจากจัดการไป๋เจี๋ยเลยหรือไง?’
‘…’
ใครๆ ก็รู้ว่าชาวเยี่ยนกำลังยั่วยุ ยั่วยุชาวหาน แล้วเน้นย้ำคำวิจารณ์ในทำนองว่าเดวิดสู้ฉู่ขวงไม่ได้ เดิมทีทุกคนมองเป็นคำพูดติดตลก นึกไม่ถึงว่าชาวหานจะถูกยั่วยุจนไปท้าชนกับฉู่ขวงจริงๆ
ชาวหานเย่อหยิงอย่างที่คิด!
ถ้าหากไม่ใช่เพราะความเย่อหยิ่งของชาวหาน วิธียั่วยุที่เงอะงะของชาวเยี่ยนคงไม่มีทางได้ผล เห็นได้ชัดว่าเดวิดคือชาวหานตามแบบฉบับ ทนกับการยั่วยุไม่ได้ คุณกล้าบอกว่าเขาสู้คนนั้นคนนี้ไม่ได้ เขาก็กล้าไปท้าต่อย ไม่เพียงส่งคำท้าประชันวรรณกรรม แต่ยังใช้ภาพเชิงยั่วโมโหอีกด้วย
แต่ถึงกระนั้น…
เมื่อเห็นว่าฉู่ขวงรับคำท้าประชันวรรณกรรม ทั้งยังใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษสองตัวที่เดวิดใช้ขณะตอบรับการประชันวรรณกรรมของไป๋เจี๋ย อะดรีนาลีนของชาวเน็ตจึงเริ่มพลุ่งพล่าน!
‘ฮ่าๆ ฉู่ขวงบอกว่าok!’
‘ไม่มีใครบ้าเท้าฉู่ขวงแล้ว!’
‘สมแล้วที่เป็นยอดฝีมือผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยกล้าสู้แบบหนึ่งต่อเก้า ฉู่ขวงทำให้ทุกคนได้เห็นอย่างชัดเจนว่า เขาจะเอาชนะเดวิดด้วยวิธีเดียวกับที่เดวิดเอาชนะไป๋เจี๋ย หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง!’
‘ชอบนิสัยของเซี่ยนอวี๋มาก!’
‘ฉู่ขวงจากฉินโจวมีรัศมีแห่งจักรพรรดิ!’
‘การตอบโต้ของฉู่ขวงยังคงบ้าบิ่นเหมือนเดิม เดวิดได้แสดงให้ทุกคนเห็นถึงวิธีการใช้okที่แท้จริงมาครั้งหนึ่งแล้ว คำนี้เมื่อสลับตัวอักษรจะหมายถึงko!’
‘…’
การประชันวรรณกรรมระหว่างไป๋เจี๋ยกับเดวิด ดึงดูดความสนใจจากผู้คนมากมาย ถึงขั้นทะยานขึ้นฮ็อตเสิร์ช และในฐานะผลสืบเนื่องจากการประชันวรรณกรรมในครั้งนี้ การประชันวรรณกรรมระหว่างเดวิดและฉู่ขวงยิ่งดึงดูดความสนใจจากผู้ชมได้มากขึ้นในชั่วพริบตา!
‘ฉู่ขวงเขียนจะเขียนนิทานอีกแล้ว!’
ชาวฉินตื่นเต้นมากที่สุด เพราะฉู่ขวงเป็นชาวฉินโจว เคยเป็นตัวแทนของฉินโจวกำราบวงการนิทานเยี่ยนโจว เพราะฉะนั้นชาวฉินต่างสนับสนุนฉู่ขวง หลายคนมองว่าการประชันวรรณกรรมในครั้งนี้คือศึกตัดสินระหว่างนิทานฉินโจวและหานโจว
นอกจากนั้น ชาวเยี่ยนก็ตื่นเต้นเช่นกัน!
เดิมทีพวกเขากังวลว่าเซี่ยนอวี๋จะไม่ยอมลงมือ ผลปรากฏว่าเดวิดจะเก่งกาจเช่นนี้ ถึงกับใช้วิธียั่วยุของชาวเยี่ยนมาใช้ลากฉู่ขวงเข้าสู่สนามประลองได้สำเร็จ!
‘ครั้งนี้ฉันยอมใจเลย!’
ถึงขั้นที่มีชาวเยี่ยนตบอกแสดงความเห็นว่า ‘ถ้าครั้งนี้ฉู่ขวงจัดการเดวิดได้สำเร็จ ฉันจะไม่วิจารณ์ฉู่ขวงอีกแม้แต่คำเดียว จะผันตัวไปเป็นแฟนคลับของฉู่ขวงทันที!’
นี่เป็นเรื่องจริง
ชาวหานเหยียบย่ำนิทานของเยี่ยนโจวอย่างหนักหน่วง ทว่าไม่มีใครสามารถจัดการเดวิดคนนี้ได้ ดังนั้นต่อให้ฉู่ขวงไม่ใช่ชาวเยี่ยนโจว แต่ถ้าเขาเอาชนะเดวิดได้ ย่อมกลายเป็นผู้กอบกู้ศักดิ์ศรีของชาวเยี่ยน หลังจากนี้จะไม่มีการบ่นเป็นหมีกินผึ้งอีก
……
。หลินเยวียนไม่ได้แทะเมล็ดแตงโมอีกต่อไป เรื่องมาถึงตัวขนาดนี้แล้ว เมล็ดแตงโมจึงหมดความกรอบและความหอมหวาน ไม่สู้เอาเวลาไปคิดวิธีแก้ปัญหาดีว่า ดังนั้นเขาจึงเริ่มขบคิดว่าใช้นิทานอะไรมาประชันวรรณกรรมกับเดวิด
“แฮร์รี พ็อตเตอร์?”
จู่ๆ หลินเยวียนก็ฉุกคิดถึงผลงานชิ้นนี้ แม้จะมีคนบอกว่าแฮร์รี พ็อตเตอร์สะท้อนโลกของผู้ใหญ่ ทว่าในเวลาที่โลกเผยแพร่นิยายเรื่องนี้ สำนักพิมพ์จัดให้ผลงานชิ้นนี้อยู่ในประเภทนิทานจริงๆ
นิยามนี้ค่อนข้างคลุมเครือ
หากอ้างอิงจากเกณฑ์ของบลูสตาร์ แฮร์รี พ็อตเตอร์สามารถจำแนกให้อยู่ในหมวดนิยายแฟนตาซี แต่ถ้าจะนิยามให้อยู่ในหมวดนิทานก็ไม่มีปัญหาเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม…
ไม่นานหลินเยวียนก็ล้มเลิกความคิดในการเขียนแฮร์รี พ็อตเตอร์ ไม่ใช่เพราะความขัดแย้งด้านการแบ่งหมวดวรรณกรรม เหตุผลสำคัญก็เพราะหนังสือเรื่องนี้ค่อนข้างยาว ขณะนี้หลินเยวียนอยู่ในโหมดปลาเค็มจำศีล ไม่อยากเขียนผลงานที่ยาวเกินไป
เก็บไว้เขียนภายหลังแล้วกัน
ตอนนี้หานิทานเรื่องสั้นๆ มาเขียนก่อนดีกว่า ก่อนหน้านี้ก็ปล่อยเพลงแดนนิทานแล้วไม่ใช่หรือ เนื้อเพลงในนั้นเอ่ยถึงนิทานหลายเรื่อง ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นหลุมพรางที่หลินเยวียนขุดไว้ ถือโอกาสนี้กลบหลุมพลางสักหนึ่งหลุมดีกว่า
เมื่อคิดเช่นนี้
หลินเยวียนจึงเริ่มตัดสินใจ
ผ่านไปประมาณสิบนาที ในที่สุดหลินเยวียนก็เลือกผลงานที่เหมาะสมได้ ในเพลงแดนนิทาน มีเนื้อเพลงประโยคหนึ่งคือ ‘ได้ยินว่าแมดแฮตเตอร์หลงรักอลิซ…’
หลินเยวียนเกือบหลุดปากร้องเพลงออกมาแล้ว
นิทานในเนื้อเพลงท่อนนี้มีชื่อว่า ‘อลิซในแดนมหัศจรรย์’ แมดแฮตเตอร์หมายถึงตัวละครชื่อว่าแมดแฮตเตอร์ เป็นตัวละครสำคัญในผลงานชิ้นนี้ ส่วนอลิซคือตัวเอก
เธอเป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง
หลินเยวียนรู้สึกว่าผลงานชิ้นนี้เหมาะกับการใช้ประชันวรรณกรรมกับเดวิด เพราะนิทานของเดวิดค่อนไปทางนิทานจากฝั่งตะวันตกบนโลก โชคดีที่ผลงานชิ้นนี้ก็เป็นนิทานตะวันตก สไตล์ในการประชันวรรณกรรมของทั้งสองฝั่งจะได้ไม่แตกต่างกันเกินไป
และยังมีอีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ
นิทานเรื่องนี้เปี่ยมไปด้วยศักยภาพในการแข่งขัน!
บนโลกประเมินว่านิทานชุดอลิซนั้นเป็นหนึ่งในผลงานซึ่งทรงอิทธิพลมากที่สุดในศตวรรษที่ 19 เสิ่นฉงเหวินนักเขียนจากแดนมังกรเคยตีพิมพ์นิยาย ‘อลิซท่องแดนมังกร’ เพื่อเสียงดีสังคมสาธารณรัฐ โดยใช้เทคนิคและลีลาการเขียนล้อกับหนังสือเรื่องนี้ ถึงขนาดแอบอ้างชื่อภาคต่อของอลิซเพื่อสะท้อนความมืดมนของสังคมในขณะนั้นด้วย
นอกจากนี้
นิทานตะวันตกอันโด่งดังอย่างพ่อมดแห่งออซและตำนานแห่งนาร์เนีย ก็ได้รับแนวคิดและจินตนาการส่วนหนึ่งมาจากอลิซในแดนมหัศจรรย์ ผลงานชิ้นนี้ได้รับการแปลอย่างน้อยหนึ่งร้อยกว่าภาษา ตามมาด้วย ผลงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาพจิตรกรรม ดนตรี ละคร เครื่องแต่งกาย ภาพยนตร์ ซีรีส์ และเกม ทั้งหมดนี้ล้วนมีอิทธิพลอย่างเห็นได้ชัด!
เอาเถอะ
หลินเยวียนยอมรับ ว่าทั้งหมดที่เอ่ยมาล้วนเป็นข้ออ้าง เหตุผลที่เขาเลือกอลิซในแดนมหัศจรรย์ก็เพราะนิยายเรื่องนี้ไม่ยาว เขาสามารถเขียนเสร็จในระยะเวลาอันสั้น นี่คือตัวเลือกซึ่งมาจากเจตนารมณ์แห่งปลาเค็ม
นิทานชุดอลิซมีสองส่วน
ส่วนแรกคล้ายกับจะมี 70,000 ถึง 80,000 ตัวอักษรเท่านั้น ตีพิมพ์ออกไปในฐานะนวนิยายเรื่องหนึ่งอาจไม่น่าสนใจเท่าไหร่นัก เขียนส่วนที่สองไปด้วยก็แล้วกัน ถึงอย่างไรสองส่วนรวมกันก็สามารถเขียนเนื้อหาได้ถึง 200,000 ตัวอักษร
หลินเยวียนยกนิ้วโป้งให้ตนเอง
ถึงจะเป็นคนขี้เกียจก็ควรมีสติ
จะเป็นปลาเค็มอย่างไรก็ไม่ควรหยิบนิยายขนาดยาวเพียงไม่กี่หมื่นตัวอักษรมาหลอกลวง ไม่มีความจำเป็นต้องกังวลเรื่องนิยายสองส่วนรวมกัน ต่อให้เป็นนักเขียนนิยายออนไลน์ซึ่งมีความถี่ในการอัปเดตผลงานที่สูง หนึ่งเดือนเขียนได้เกือบสองแสนตัวอักษรก็จัดอยู่ในประเภทนักเขียนที่ขยันขันแข็งแล้ว
ส่วนห้าหกแสนตัวอักษรในหนึ่งเดือนน่ะหรือ?
ไม่ต้องถามก็บอกได้เลยว่าใช้สูตรโกง
ในเวลานี้จู่ๆ หลินเยวียนก็เกิดความคิดหนึ่งขึ้นมา บีโธเฟนคล้ายว่าจะมีผลงานชิ้นหนึ่งคือ ‘แด่อลิซ[1]’ ถึงแม้อลิซคนนี้จะไม่ใช่อลิซคนนั้น ทว่าการอ้างถึงตัวตนของอลิซนั้นไม่ชัดเจน ไม่มีทางอ้างอิงถึงสถานการณ์โดยละเอียดได้
หรือว่านี่จะเป็นโอกาสในการเชื่อมโยง?
[1] แด่อลิซ หมายถึงผลงาน แด่เอลิเซอ (Für Elise) ซึ่งเป็นผลงานบากาเตล 25 ในบันไดเสียงเอ ไมเนอร์ ของบีโธเฟน ณ ที่นี้จะใช้ชื่อว่า ‘แด่อลิซ’ เพื่อให้ง่ายแก่การเข้าใจ