\อลิซในแดนมหัศจรรย์ของฉู่ขวงเป็นนิทานประเภทไหน
ที่จริงแล้วเรื่องราวก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร
เด็กหญิงซึ่งมีชื่อว่าอลิซ เข้าไปยังโลกซึ่งคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นแดนมหัศจรรย์ ได้รู้จักกับเพื่อนมากมาย และพบเจอกับประสบการณ์อันเหลือเชื่อและแปลกพิลึก
ในโลกนี้ ราชินีขาวและราชินีแดงเป็นอริกัน
ท้ายที่สุดแล้ว อลิซก็ช่วยเหลือราชินีขาว เอาชนะราชินีแดงได้
ท้ายที่สุดแล้ว อลิซก็ตื่นขึ้น
เธอตระหนักได้ว่าบนโลกไม่มีเวทมนตร์ สิ่งที่เรียบว่าแดนมหัศจรรย์ เป็นเพียงความฝันของเธอเอง
สำหรับเรื่องนี้ สิ่งที่ซับซ้อนอย่างแท้จริงคือความหมายโดยนัย
บทพูดในนิทานทุกประโยค พล็อตเรื่องทุกๆ ตอน คล้ายกับว่ามีความหมายพิเศษซ่อนอยู่
ผู้อ่านแต่ละคนย่อมมีความรู้สึกที่แตกต่างกันสำหรับเรื่องนี้
บางคนอ่านจบถึงขั้นสับสน
ส่วนบางคนคิดว่าตนอ่านเข้าใจ ทว่าหลังจากขบคิดอย่างละเอียดกลับไม่มั่นใจว่าตนอ่านเข้าใจจริงหรือไม่
เพราะฉะนั้นหลังจากที่นิทานเผยแพร่ออกไป คอมเมนต์ร้อนแรงอันดับหนึ่งในพื้นที่แสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์สตาร์เน็ตคือ
‘นิทานแนวไร้แก่นสารแปลกๆ ’
คอมเมนต์ร้อนแรงอันดับที่สองคล้ายกับว่าจะเป็นการตอบคอมเมนต์ที่หนึ่ง
‘น่ารักแปลกๆ สนุกแปลกๆ ไร้แก่นสารแปลกๆ ตื่นเต้นแปลกๆ ’
ความแปลกประเภทนี้ ปรากฏในหลายแง่มุมของนิทาน
เช่นดื่มยาแล้วตัวใหญ่ขึ้น…
เช่นกินคุกกี้แล้วตัวเล็กลง…
เช่นกระต่ายและแมวพูดได้…
เช่นบทสนทนาซึ่งแฝงความหมายอันลึกซึ้ง
‘ฉันควรไปทางไหน’
‘แล้วเธออยากไปไหนล่ะ’
‘ฉันไม่รู้’
‘ถ้าอย่างนั้นมันก็ไม่สำคัญหรอก’
‘ถ้าเธอเดินไปผิดทาง’
‘ฉันก็จะบุกเบิกทางใหม่ซะเลย’
ยกตัวอย่างเช่นประโยคอันน่าจดจำและงดงามเหล่านี้
[วิธีเดียวที่จะทำสิ่งที่ ‘เป็นไปไม่ได้’ สำเร็จก็คือเชื่อว่ามันเป็นไปได้]
[ย้อนเวลากลับไปเมื่อวานนั้นเปล่าประโยชน์ เพราะตัวฉันในอดีตต่างจากฉันในวันนี้]
[คนเรามักคิดว่าเวลาคือหัวขโมย ขโมยทุกสิ่งที่เรารักไป แต่ว่า เวลาก็เป็นผู้ให้เช่นกัน ทุกๆ วันล้วนเป็นของขวัญ ทุกชั่วโมง ทุกนาที ทุกวินาที]
[คนเก่งๆ เขาบ้ากันหมดนั่นแหละ]
[ในดินแดนของเรา คุณจะอยู่ในที่เดิมได้ ก็ต่อเมื่อคุณวิ่งต่อไป]
แน่นอน
ยังรวมไปถึงคำถามที่หลายคนไม่อาจหาคำตอบได้
ทำไมอีกาถึงเหมือนโต๊ะเขียนหนังสือ
แต่ไม่ต้องสงสัยเลย
ทุกคนชอบนิทานเรื่องนี้
กระแสคำวิจารณ์หนังสือเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการ
‘นิทานเรื่องนี้ของฉู่ขวงทั้งไร้แก่นสารทั้งน่ารัก คุ้มค่าแล้วที่ฉันเป็นผู้อ่านกลุ่มแรกที่สั่งของ ชอบเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะดำเนินเรื่องได้ยอดเยี่ยมมาก แต่เพราะประโยคสุดท้าย บางทีหลายปีหลังจากนี้เด็กผู้หญิงจะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ ฉันเองไม่ใช่เด็กผู้หญิงซึ่งป่วยด้วยกลุ่มอาการอลิซในแดนมหัศจรรย์อีกต่อไป แต่อย่างน้อยฉันก็เคยผ่านเรื่องราวอันงดงาม’
‘ขี้เกียจและเป็นอิสระ ฉันชอบความสบายใจไร้กังวลแบบนี้’
“‘มีบางครั้งผมมักฝันร้าย ในฝันมีคนจะฆ่าผม แต่ผมไม่กลัวเลย เพราะผมรู้ว่านี่เป็นแค่ความฝัน ผมจะตื่นเมื่อไหร่ก็ได้ที่ผมอยากตื่น’
‘ที่จริงอยากแนะนำนิทานเรื่องนี้ให้ผู้ใหญ่อ่าน’
‘ฉันก็คิดเหมือนกันว่านี่เป็นนิทานสำหรับผู้ใหญ่ แก่นแท้ของความฝันคือความไร้แก่นสาร ความงดงามปกปิดการเสียดสีสุดโต่ง อัปลักษณ์หรืองดงาม หรือแม้แต่ดีงามและเลวทรามล้วนสัมพันธ์กัน ขัดแย้ง ต่อต้าน และเป็นหนึ่งเดียว’
‘ทำไมอ่านนิทานเรื่องนี้แล้วรู้สึกอึดอัด?’
‘ที่จริงแล้วไม่ได้ลึกลับขนาดนั้นนะ ผมรู้สึกว่านิทานเรื่องนี้ของฉู่ขวงกำลังบอกเราว่าอย่าถูกครอบงำโดยโลกภายนอก พยายามยืนหยัดกับสิ่งที่เราคิด เดิมทีอลิซเป็นคนที่กล้าจินตนาการ ไม่คุ้นเคยกับกรอบเกณฑ์ต่างๆ ในเวลานั้น อลิซช่วงแรกเป็นคนแบบนั้น แต่หลังจากที่พ่อเสีย เธอก็สูญเสียจุดเด่นด้านความกล้าหาญนี้ไป จนกระทั่งมายังแดนมหัศจรรย์จึงค้นพบตัวเองอีกครั้ง’
‘…’
ต้นฉบับนั้นขาดการเล่าเรื่องราว และให้ความรู้สึกค่อนข้างอ่อนแรง
หลินเยวียนไม่ได้ปรับเปลี่ยนพล็อตเรื่องมากนัก แต่เขาทำให้การเรื่องราวโดดเด่นขึ้น เช่นความบาดหมางระหว่างราชินีขาวและราชินีแดง
ทั้งยังเอื้อต่อการสร้างตัวละคร และสามารถทำให้ทุกคนดื่มด่ำกับแดนมหัศจรรย์ได้มากขึ้นด้วย
แนวคิดนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการดัดแปลงภาพยนตร์ชุดอลิซ
ผลลัพธ์ไม่เลวเลย
กอปรกับภาพวาดของอิ่งจือ ยกระดับผลลัพธ์ขึ้นเป็นเท่าตัว
ในเรื่องราวที่ปรับแก้เล็กน้อย ราชินีแดงเหี้ยมโหด ราชินีขาวใจดีมีเมตตา
ทว่าเหตุที่ราชินีแดงกลายเป็นคนโหดร้าย กลับเป็นเพราะนางเคยถูกราชินีขาวทำร้ายในวัยเด็ก
ครั้นยังเยาว์วัย
ราชินีขาวแอบกินทาร์ตผลไม้ แต่เศษทาร์ตผลไม้กลับร่วงอยู่ในห้องของราชินีแดง
พระมารดาไต่ถามราชินีแดง ราชินีแดงไม่ยอมรับ และให้ราชินีขาวสารภาพด้วยตัวเอง ปรากฏว่าราชินีขาวกลับขลาดกลัวและไม่ยอมรับว่าตนได้กินทาร์ตผลไม้ไป
พระมารดาตำหนิราชินีแดง
ในฐานะธิดาคนโต ราชินีแดงต้องเผชิญกับความอยุติธรรม นางวิ่งออกจากห้องด้วยความโกรธ ปรากฏว่าศีรษะกระแทก กลายเป็นปีศาจหัวโต ส่งผลให้รูปลักษณ์อันอัปลักษณ์ของนางถูกประชาชนเยาะเย้ย
ราชินีแดงรู้สึกว่าตนถูกดูหมิ่น และขู่ว่าจะตัดศีรษะของคนเหล่านี้เสีย
พระบิดาและพระมารดาทรงพิโรธ จึงประกาศทันที ว่าราชินีแดงหมดสิทธิ์ในการสืบทอดบัลลังก์ ราชินีขาวจะปกครองดินแดนต่อไป
นี่คือเหตุผลที่ราชินีขาวและราชินีแดงเป็นปรปักษ์กันในเรื่อง
หลายคนถกเถียงกันเกี่ยวกับเนื้อเรื่องส่วนนี้
มีคนคิดว่าราชินีแดงนั้นไร้เดียงสา เพียงแต่เนื่องจากในวัยเยาว์ประสบเหตุการณ์เช่นนี้ จึงถูกครอบงำด้วยความมืดมน ราชินีขาวควรพูดความจริงออกไป แทนที่จะปล่อยให้พี่สาวต้องทนทุกข์กับความอยุติธรรม
มีบางคนกลับคิดว่า ในเวลานั้นราชินีขาวยังเยาว์วัยนัก ไม่รู้เรื่องราวเหล่านี้
และความมืดมนของราชินีแดง เกิดขึ้นเพราะแรกเริ่มเดิมทีราชินีแดงไม่ได้เป็นคนดีโดยเนื้อแท้ นางสังหารคนบริสุทธ์ไปมากมาย เราไม่สามารถกล่าวว่าความผิดทั้งหมดล้วนเป็นเพราะวัยเด็ก แล้วจะลบล้างความผิดให้กับราชินีแดงได้
“ไม่มีใครรักข้า”
ราชินีแดงมักพูดเสมอว่า “เมื่อเทียบกับความน่ารัก ความน่ากลัวใช้ได้จริงมากกว่า”
วิธีการปกครองของราชินีแดงคืออำนาจ
วิธีการปกครองของราชินีขาวคือความเมตตา
และเมื่อความขัดแย้งนี้ขยายตัวเป็นวงกว้างขึ้น มีคนกล่าวว่า ‘ราชินีแดงไร้เดียงสาแต่กลับน่ากลัว ราชินีขาวใจดี แต่ขณะเดียวกันกลับขาดความรับผิดชอบ ฉันคิดว่าสิ่งที่ฉู่ขวงต้องการสื่อน่าจะเป็นการเรียนรู้จุดแข็งของราชินีทั้งสองคนได้’
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ…
ในนิทานส่วนใหญ่ ตัวร้ายมักถูกเกลียด
อย่างไรก็ตาม คำวิจารณ์ที่ราชินีแดงได้รับ กลับไม่ใช่การประณาฌเพียงฝั่งเดียว มีผู้คนมากมายที่เห็นใจนาง
อาจเป็นเพราะราชินีแดงเป็นมิตรกับผู้ที่มีรูปลักษณ์ผิดปกติ เนื่องจากตัวนางเองก็มีศีรษะที่ใหญ่ผิดปกติซึ่งเกิดจากอาการบาดเจ็บที่ศีรษะจากการกระตุ้นของน้องสาว
ตอนจบของเรื่อง หลินเยวียนได้เตรียมฉากการปรองดองกันระหว่างราชินีขาวและราชินีแดง
ราชินีแดงกลายเป็นหิน
ราชินีขาวอุ้มพี่สาวซึ่งกลายเป็นหินหนีไปโดยไม่สนกิริยามารยาทอีกต่อไป และส่งผลให้นางกลายเป็นหินเช่นเดียวกัน
หลังจากคลายคำสาป ราชินีขาวจึงกล่าวขอโทษราชินีแดงสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก
ราชินีแดงกล่าวตอบ ‘ข้าเฝ้ารอประโยคนี้มาตลอดหลายปี นี่คือทั้งหมดที่ข้าต้องการ’
วิธีเขียนของหลินเยวียนนั้นเป็นกลาง
ราชินีแดงและราชิขาวเหลือเพียงส่งต่อให้ผู้อ่านประเมิน
ทว่าอันที่จริงอลิซเลือกราชินีขาวไปแล้ว คงเป็นเพราะราชินีแดงสร้างความเจ็บปวดให้ผู้คนมากเกินไป เพียงเพราะความเจ็บปวดของนางเอง
นี่คือจุดหนึ่งซึ่งไม่อาจลบล้างได้
และหลินเยวียนก็ไม่คิดจะลบล้าง
เช่นเดียวกับการสร้างตัวละครราชินีขาว นางไม่ได้บริสุทธิ์และไร้ที่ติเฉกเช่นที่แสดงต่อโลกภายนอก นี่คือแนวคิดต่อต้านขนบของนิทาน ต่อให้เป็นราชินีขาวผู้ใจดีก็มีข้อบกพร่องในตัวเอง จุดนี้ก็เหมือนกับราชินีแดงผู้โหดเหี้ยม ก็ยังเคยแบกรับความทุกข์ทรมาน แม้ใจร้าย ก็ร้ายอย่างไร้เดียงสา
การเล่าเรื่องซึ่งได้รับการยกระดับ…
ความรอบคอบของเส้นเรื่อง…
ความสนุกสนานของความไร้แก่นสาร…
ความลึกซึ้งของปรัชญาในภาษา…
เมื่อประกอบคำอธิบายและฝีมือการวาดภาพของฉู่ขวง ทุกคนรู้สึกราวกับพวกเขากำลังชมภาพยนตร์มากกว่าอ่านนิทาน และนี่คือปัจจัยสำคัญของความโด่งดังของอลิซในแดนมหัศจรรย์
ใช่แล้ว
อลิซ
โด่งดังแล้ว
——————
ปล. อ้างอิงจากพล็อตเรื่องเวอร์ชันภาพยนตร์ ถึงแม้ภาพยนตร์จะมีข้อบกพร่องมากมาย แต่รู้สึกว่าราชินีแดงออกแบบตัวละคนได้ดีมาก การออกแบบตัวละครในลักษณะนี้สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของคำว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ นิทานเรื่องนี้น่าสนใจตรงที่มีความเป็นปรัชญาสูงมาก ไม่มีความดีงามหรือเลวทรามซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกันอย่างนิทางเรื่องอื่น