บทที่ 217-2 ปัญหาของเส้นโค้ง (2)
ทันทีที่ไป๋เยี่ยกลับมาถึงห้อง เขาก็ปิดประตูอย่างรวดเร็ว จากนั้นก็เปิดหน้าจอโปร่งแสงขึ้นมา
[จัดตั้งห้องแล็บระดับพื้นฐาน
แจ้งเตือน: หลังเปิดใช้งานจะได้รับห้องแล็บครบเครื่อง (ระดับพื้นฐาน) 1 ห้อง
เงื่อนไขการเปิดใช้งาน: เงินสด 5000000 หยวน, ห้องที่มีพื้นที่มากกว่า 500 ตารางเมตร]
ไป๋เยี่ยกดปุ่มเปิดใช้งานด้านล่างข้อความนั้น
ทันใดนั้นข้อความแจ้งเตือนจากระบบก็ปรากฏขึ้น
[ติ๊ง! ต้องการจัดตั้งห้องแล็บระดับพื้นฐานหรือไม่ หลังเปิดใช้งานระบบจะทำการเปลี่ยนห้องดังกล่าวให้กลายเป็นห้องแล็บระดับพื้นฐานและจะหักค่าใช้จ่ายจำนวน 5 ล้านหยวนอัตโนมัติ]
ไป๋เยี่ยกดตกลงไปโดยไม่ลังเล!
[ติ๊ง! หลังจากเปิดใช้งานครั้งแรก คุณจะเลือกทิศทางการวิจัยหลักสำหรับการทดลองที่จะเกิดขึ้นในห้องแล็บแห่งนี้ได้ เครื่องมือต่างๆ ภายในห้องแล็บจะถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องโดยอัตโนมัติ!]
ทิศทางงานวิจัยเหรอ
ไป๋เยี่ยใช้เวลาครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่งและตัดสินใจเลือกทิศทางการวิจัยเรื่องจุลินทรีย์ อย่างไรตอนนี้มันก็เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด
[ติ๊ง! กำลังก่อสร้าง…โปรดรอสักครู่…]
เวลาผ่านไปช้าๆ หลังจากนั้นไม่กี่นาที ทั่วทั้งห้องก็มีวัตถุเปล่งแสงสว่างวูบวาบปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตาไป๋เยี่ย!
ผ่านไปราวๆ ครึ่งชั่วโมง วัตถุเหล่านั้นก็กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้!
[ติ๊ง! การก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว ทิศทางการวิจัยสำหรับห้องแล็บนี้คือพันธุวิศวกรรมของจุลินทรีย์ขั้นพื้นฐาน]
หลังจากที่เสียงสัญญาณสิ้นสุดลง ไป๋เยี่ยก็สัมผัสได้ถึงข้อมูลจำนวนมากที่กำลังไหลเข้ามาในหัวของเขา เป็นคำแนะนำในการใช้เครื่องมือต่างๆ ในห้องแล็บ
ไป๋เยี่ยลุกขึ้นเดินไปรอบๆ สักสองสามรอบพลางมองเครื่องมือสุดล้ำยุคเหล่านั้นด้วยความประหลาดใจ!
ห้าล้านถูกเกินไป!
มันถูกเกินไปจริงๆ ทั้งเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ[1] เครื่องสเปกโตรโฟโตมิเตอร์[2] เครื่องทดลองปฏิกิริยาหลากหลายฟังก์ชั่น เครื่องเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ รังจำลองสภาพแวดล้อมและตู้อบจำลองสภาพแวดล้อมของลำไส้มนุษย์…
ไป๋เยี่ยมองอุปกรณ์อันเป็นวิทยาการระดับแนวหน้าของชาติยุโรปและอเมริกาเหล่านี้!
ของพวกนี้คงมีราคาในตลาดไม่น้อยเลย
นอกจากนี้ยังมีเครื่องบำบัดน้ำเสียที่เป็นช่องทางพิเศษสำหรับการบำบัดหลังใช้ยาและสารพิเศษต่างๆ
เพราะว่าขยะจากครัวเรือนและขยะจากการทดลองนั้นต่างกัน
หลังจากวุ่นมาแทบทั้งวัน ไป๋เยี่ยก็สำรวมท่าทีขี้เล่นของตนเองและเริ่มทำตามแผนการทดลองและไอเดียที่ร่างไว้
จุดประสงค์ของเขาคือต้องแสดงให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมภายในลำไส้ที่มีเสถียรภาพนั้นมีผลกระทบต่อโรคในลำไส้
เขาได้รับทักษะจุลชีววิทยาเลเวลห้ามาจากคาร์ล คาร์ลถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยทางจุลชีววิทยาคนหนึ่งเลยก็ว่าได้
แต่ถึงกระนั้น ต่างคนก็ต่างแสดงศักยภาพออกมาได้แตกต่างกัน
เมื่อไป๋เยี่ยได้รับทักษะวิศวกรรมชีวภาพของจุลินทรีย์เลเวลห้า ผสานกับทักษะสาขาทวารหนักเลเวลห้าและทักษะสรีรวิทยาเลเวลหก…เขาก็ได้ค้นพบหลายอย่าง
นั่นคือการใช้จุลินทรีย์ที่มีงานวิจัยออกมาแล้วในการสำรวจความสมดุลของสภาพแวดล้อมภายในลำไส้ จากนั้นก็ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสมดุลและโรคในลำไส้
ก็เพราะฝั่งนั้นเขาอยากได้หลักฐานนี่นา
ไป๋เยี่ยใช้เพียงจุลินทรีย์บางชนิด จากนั้นก็ที่จำลองสภาพแวดล้อมภายในลำไส้ของมนุษย์ เขาสำรวจได้ว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ไม่ได้สร้างผลกระทบใดๆ ต่อลำไส้เลย แล้วสาเหตุของโรคเกิดจากอะไรล่ะ
จะต้องเป็นเพราะการปรับสมดุลในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันภายในระบบทางเดินอาหารมีแน่นอน
ไป๋เยี่ยเรียกการทดลองนี้ว่า ‘สมดุลยภาพของสภาพแวดล้อมภายในลำไส้’
เพราะว่าจุลินทรีย์ในลำไส้เหล่านี้ไม่ได้มีมาตั้งแต่กำเนิด แต่มันเกิดขึ้นมาพร้อมกับกระบวนการหายใจ การดื่มนมแม่ อาหารการกิน และจุลินทรีย์ที่หลงเหลืออยู่ภายในลำไส้ จุลินทรีย์เหล่านี้เริ่มสร้างถิ่นฐานภายในร่างกายมนุษย์โดยอาศัยทั้งอากาศ น้ำและอาหาร จนในที่สุดพวกมันก็กลายเป็นจุลชีพที่มีเสถียรภาพ
โดยจะมีสามประเภทหลักๆ ประเภทแรกคือโพรไบโอติกส์[3] ได้แก่ แบคเทอโรไดเตส[4] คาร์บอกซิโดโทรปิกแบคทีเรีย[5] บิฟิโดแบคทีเรียม[6] และแลคโตบาซิลลัส[7] พวกมันมีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ โดยมีส่วนช่วยในการย่อยอาหารและปกป้องลำไส้ของเรา
ประเภทที่สองคือแบคทีเรียก่อโรคแบบมีเงื่อนไข ส่วนใหญ่จะเป็นแบคทีเรีย เช่น เอนเทอโรคอคคัส[8]และ แบคทีเรียวงศ์เอนเทอร์โรแบคทีเรียซีอี[9] เป็นต้น ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้มีจำนวนไม่มากนัก แต่เป็นปัจจัยที่แปรผันได้ เมื่อลำไส้มีสุขภาพแข็งแรงดี มีโพรไบโอติกส์อาศัยอยู่ล้นหลาม แบคทีเรียชนิดนี้ก็จะดำรงอยู่อย่างสงบ แต่ถ้าโพรไบโอติกส์มีจำนวนน้อยลง แบคทีเรียเหล่านี้ก็จะเริ่มก่อปัญหาต่างๆ ทำให้เกิดโรคภายในลำไส้หลากหลายชนิด
ประเภทที่สามคือแบคทีเรียก่อโรค เช่น ซัลโมเนลลา[10]และอีโคไล[11] พวกมันเป็นตัวทำลายสุขภาพและไม่ได้อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์ตั้งแต่ต้น หากแบคทีเรียพวกนี้เข้าสู่ร่างกายก็จะก่อให้เกิดโรค!
ไป๋เยี่ยไม่ต้องการศึกษาจุลชีพทุกชนิดเพราะมันจะเป็นงานยากที่กินเวลาอย่างแน่นอน ศึกษาได้หรือไม่ แน่นอนว่าได้ แต่มันต้องใช้เวลานาน!
เพียงแต่ตัวเขาแค่ต้องการพิสูจน์ว่าเมื่อจุลชีพภายในลำไส้อยู่ในสภาวะไม่สมดุล จุลชีพเหล่านั้นจะแปรสภาพไปและก่อให้เกิดโรคได้!
ไป๋เยี่ยหยิบจานเพาะเชื้อขึ้นมาแล้วกลับไปที่แผนกทวารหนักของโรงพยาบาล ผู่เจ๋อ เขาติดต่อซ่งเจี๋ยแล้วขอบางอย่างมาจากห้องผ่าตัด จากนั้นด้วยความช่วยเหลือของซ่งเจี๋ย เขาก็ได้ไปที่แผนกทวารหนักของสถานพยาบาลหลายแห่งและรวบรวมตัวอย่างหลากหลายประเภทมาได้ 艾琳小說
เมื่อมีแนวทางแล้ว ไป๋เยี่ยก็เริ่มฝึกฝนและทำการทดลองต่างๆ กล่าวได้ว่าตอนนี้เขาดึงประสิทธิภาพอันล้ำเลิศของอุปกรณ์ในห้องแล็บออกมาได้แล้ว
อันที่จริงไป๋เยี่ยก็ยังรับประกันไม่ได้ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นเช่นไร เขาได้แต่ตั้งสมมติฐาน จากนั้นก็ทำการทดลอง พอได้ข้อสรุปก็กลับไปตั้งสมมติฐานใหม่…เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ
มีการทดลองครั้งแล้วครั้งเล่า สมมติฐานถูกปัดตกและสร้างขึ้นมาใหม่
สามวันต่อมา!
ไป๋เยี่ยอ่านข้อความแจ้งเตือนบนเครื่องวิเคราะห์ ได้ผลลัพธ์แล้ว!
เขาได้รับสิ่งแทนสภาวะสมดุลของสภาพแวดล้อมภายในลำไส้ สิ่งนี้เป็นสารที่ยังไม่ถูกค้นพบมาก่อนและยังไม่มีชื่อมาจนถึงปัจจุบัน ไป๋เยี่ยจึงตั้งชื่อมันว่า ‘สารฟทาริกชนิดอาร์’
สารนี้ชี้ถึงสมดุลยภาพของเชื้อภายในลำไส้ได้ ยิ่งค่าของสารชนิดนี้สูง สมดุลภายในลำไส้ก็ยิ่งต่ำ ง่ายต่อการเกิดโรคยิ่งขึ้น ยิ่งค่าของสารต่ำเท่าใด สมดุลก็ยิ่งมากเท่านั้น โอกาสที่จะเกิดโรคก็จะน้อยลง
แล้วสารนี้มีความสำคัญอย่างไร
เรียกได้ว่ามันมีความสำคัญอย่างยิ่ง!
มันเหมือนกับการใช้เอนไซม์การทำงานของหัวใจ[12]ในการตรวจสุขภาพของหัวใจ เหมือนสารโฮโมซิสเทอีน[13] ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการตรวจหาโรคหลอดเลือดสมองและเหมือนการใช้สารเอเอสที[14] ในการตรวจสอบการทำงานของตับ
ฟทาริกชนิดอาร์ก็เป็นสารที่ช่วยบ่งชี้ถึงสมดุลยภาพภายในลำไส้ได้
เมื่อมีสารฟทาริกชนิดอาร์จำนวนน้อย จุลินทรีย์ภายในลำไส้ก็จะดำรงอยู่ได้ ทำให้ลำไส้มีสุขภาพดี แต่ถ้าฟทาริกชนิดอาร์เพิ่มขึ้นถึงระดับหนึ่งย่อมหมายความว่าเริ่มมีการรุกรานของแบคทีเรียก่อโรคหรือแบคทีเรียก่อโรคแบบมีเงื่อนไข ชี้ให้เห็นถึงสภาพสมดุลภายในลำไส้ได้
เช่นนี้ก็จะป้องกันโรคภายในลำไส้ได้แล้ว หากเกิดโรคขึ้นแล้วก็ป้องกันและรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
สิ่งที่ไป๋เยี่ยต้องทำต่อไปคือวิเคราะห์แบคทีเรียก่อโรคหลายชนิด เพื่อดูว่าแบคทีเรียเหล่านี้ก่อให้เกิดโรคชนิดใดได้บ้าง
และเมื่อได้คำตอบแล้ว เช่น แบคทีเรียชนิดเออาจทำให้เกิดติ่งเนื้อภายในลำไส้ได้ เมื่อแบคทีเรียชนิดเอเกิดภาวะไม่สมดุลก็อาจจะเกิดสารอื่นๆ ขึ้นมาด้วย ส่งผลให้เกิดปัจจัยในการเกิดโรคอื่นๆ ตามมา
สารฟทาริกชนิดอาร์ก็เป็นเพียงดัชนีชี้วัดสมดุลยภาพอย่างหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายอย่างที่แบ่งประเภทแยกย่อยไปอีก งานต่อไปของไป๋เยี่ยก็คือการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคต่างๆ ที่เกิดจากจุลชีพและปัจจัยที่สะท้อนให้เห็นถึงจุลชีพเหล่านี้ จนท้ายที่สุดก็คิดค้นวิธีการรักษาอันเยี่ยมยอดออกมาได้
[1] เครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ (Bioreactor) คือ อุปกรณ์หรือระบบที่สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการตื่นตัวทางชีวภาพ
[2] เครื่องสเปกโตรโฟโตมิเตอร์ (Spectrophotometer) คือ เครื่องวัดคุณภาพน้ำโดยอาศัยหลักการส่องผ่านและดูดกลืนแสง
[3] โพรไบโอติกส์ (Probiotics) คือ จุลินทรีย์ดีที่มีหน้าที่ปรับสมดุลกรดเบสภายในลำไส้
[4] แบคเทอโรไดเตส (Bacterodetes) คือ แบคทีเรียภายในลำไส้ที่มีส่วนช่วยในการเพิ่มอัตราการเผาผลาญและลดการดูดซึมไขมัน
[5] คาร์บอกซิโดโทรปิกแบคทีเรีย (Carboxydotrophic Bacteria) คือ แบคทีเรียที่มีส่วนช่วยในกระบวนการออกซิไดซ์ของคาร์บอนมอนออกไซด์
[6] บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) คือ แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่และช่องคลอด ช่วยป้องกันการเพิ่มจำนวนของเชื้อแบคทีเรียก่อโรค โดยไปยึดเกาะผนังลำไส้ คอยเพิ่มจำนวนและแย่งสารอาหารจากจุลินทรีย์ชนิดที่ไม่ดี
[7] แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) คือ แบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มักพบในนมเปรี้ยวและโยเกิร์ต ช่วยลดอาการท้องเสียได้
[8] เอนเทอโรคอคคัส (Enterococcus) คือ แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเน่าเสียของอาหาร
[9] เอนเทอร์โรแบคทีเรียซีอี (Enterobacteriaceae) คือ วงศ์ของแบคทีเรียเชื้อประจำถิ่นที่มีมากในลำไส้ จึงเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง
[10] ซัลโมเนลลา (Salmonella) คือ แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษ
[11] อีโคไล (E.coli) คือ แบคทีเรียเชื้อประจำถิ่นในลำไส้ ปกติจะไม่ก่อโรค แต่ในบางเคสก็อาจจะเป็นสาเหตุของโรคท้องเดินและโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้
[12] เอนไซม์การทำงานของหัวใจ หรือ เอนไซม์การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac Enzyme/Heart Enzyme) คือ สารเคมีที่หลั่งจากกล้ามเนื้อหัวใจเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจเสียหาย
[13] สารโฮโมซิสเทอีน (Homocysteine) คือ สารที่เกิดจากการย่อยสลายของอาหารประเภทโปรตีนที่เป็นตัวชี้วัดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
[14] สารเอเอสที/แอสพาร์เทต ทรานสมิเนส (AST/Aspartate transaminase) คือ เอนไซม์ที่ร่างกายสร้างขึ้นเมื่ออวัยวะในร่างกายเกิดความเสียหาย หากพบในปริมาณมากจะเป็นสัญญาณว่าอวัยวะภายในมีปัญหา พบมากโดยเฉพาะในตับ